เมื่อ : 09 ก.ค. 2568


นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในปัจจุบันการเลี้ยงปลาสวยงาม เป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีการซื้อขายทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยจากสถิติของธนาคารโลกในปี 2567 มีมูลค่าการซื้อขายทั่วโลก ประมาณ 10000 ล้านบาท ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่าพันล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 11% โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกในการผลิตสัตว์น้ำสวยงามส่งออก เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม มีชนิดพันธุ์ที่หลากหลาย มีปัจจัยที่อำนวยต่อการเจริญเติบโต มีช่องทางการตลาดและการขนส่งที่สะดวก และเกษตรกรไทยมีความสามารถในการผลิตสัตว์น้ำสวยงามที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และพัฒนาสายพันธุ์ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ สัตว์น้ำสวยงามของไทยจึงได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดโลก
         


สัตว์น้ำที่สำคัญในการส่งออก ได้แก่ ปลากัด โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดเอกลักษณ์ประจำชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกย่องให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ปัจจุบันปลากัดได้รับการพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงและปรับปรุงพันธุ์จากกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงจนเกิดรูปร่างลักษณะที่มีความหลากหลาย รวมทั้งสีสันที่สวยงามจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก จนนำไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์ โดยประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกปลากัดประมาณ 400 ล้านบาท หรือราว 40% ของการส่งออกสัตว์น้ำทั้งหมด รองลงมา  คือ ปลาทอง (7.3%) ปลาหางนกยูงและปลาสอด (6.4%) กุ้งสวยงาม (5.8%) กลุ่มปลาหมอสีและปลาออสการ์ (3.9%) และปลาชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะปลาสวยงามพื้นเมืองของประเทศไทย เช่น ปลาก้างพระร่วง ปลาลูกผึ้ง ปลาซิวต่าง ๆ มีประเทศผู้นำเข้าสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา (20%) สหภาพยุโรป (13.2%) จีน (10%)

กรมประมงเล็งเห็นถึงมูลค่าการส่งออกที่จะกลับมาเป็นเม็ดเงินให้กับเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประกอบกับตลาดเดิมที่ยังมีส่วนแบ่งอีกมากให้ช่วงชิง และตลาดใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องเข้าไปถือครองส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่กำกับดูแลกรมประมง ที่มุ่งเน้นการสร้างอาชีพ สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพผลผลิตสัตว์น้ำ เพิ่มช่องทาง เพิ่มตลาดให้เกษตรกรไทย เพื่อสร้างรายได้สู่ครัวเรือนเกษตรกร ดังนั้น การเตรียมพร้อมเรื่องข้อกำหนดการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำสวยงามของประเทศผู้ค้า จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้สามารถผลิตและส่งออกได้ตามมาตรฐาน เงื่อนไข และข้อกำหนดของผู้ค้า รวมถึงการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด ทั้งความสวยงาม ความแปลกใหม่และมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อให้สินค้ามีความหลากหลาย สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้


กรมประมงจึงได้พัฒนาแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำสวยงาม พ.ศ. 2566 – 2570 โดยรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาหารือ จนได้ 4 ยุทธศาสตร์ 13 แนวทาง หรือ 13 แผนงาน ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง การส่งเสริมการตลาด และการส่งออก ลดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ มีวิสัยทัศน์ คือ “เป็นผู้นำการผลิตและการค้าสัตว์น้ำสวยงามที่มีมาตรฐานเพื่อการส่งออกและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำสวยงามของไทยเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจ จึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

       ยุทธศาสตร์ที่ 1 การวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานคุ้มค่ากับการลงทุน
         ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบริหารจัดการด้านระบบมาตรฐานและการจัดการฐานข้อมูล เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตของเกษตรกรผู้ผลิตสัตว์น้ำสวยงามให้ได้ปริมาณ มีคุณภาพและได้มาตรฐานที่มีความยั่งยืนในอาชีพ
         ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ และผู้ประกอบการ มีองค์ความรู้และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปปรับใช้ในการผลิตอย่างยั่งยืน
         ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขยายช่องทางการตลาดของสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในเรื่องการตลาดและการเข้าถึงตลาดเพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนการผลิตที่ตอบสนองกับความต้องการของตลาด

 ที่สำคัญ กรมประมงยังมีการจัดงานประมงน้อมเกล้าฯ ขึ้นทุกปี โดยในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มิ.ย. – 6 ก.ค. เป็นครั้งที่ 35 ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ โดยภายในงานจะมีการประกวดปลาสวยงาม 7 ชนิด 76 ประเภท มากกว่า 3000 ตู้ การประกวดในครั้งนี้ถือเป็นงานประกวดปลาสวยงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงปลาสวยงามของไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของการค้าปลาสวยงามทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเปิดเวทีให้ผู้เพาะเลี้ยง นักสะสม และผู้ชื่นชอบปลาสวยงาม ได้พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ และชื่นชมความงามของปลาสายพันธุ์ดี และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ในการเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำสวยงามของไทย 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประกวดปลาแฟนซีคาร์ป เนื่องในงาน “วันประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 35” The 19th TNPA All Thailand Koi Show 2025 ขึ้น ณ MCC Hall ชั้น 3 ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ โดยมีนายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เลขาธิการองค์กรระหว่างประเทศด้านการประมง ผู้บริหารห้างสรรพสินค้า The Mall Department Store แขกผู้มีเกียรติ กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงาม ตลอดจนพี่น้องประชาชน ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ซึ่งถือว่าการจัดงานครั้งนี้ เป็นการพัฒนาวงการเพาะเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ปไปอีกระดับ เนื่องจากคณะกรรมการที่ตัดสินเป็นทีมงานจากประเทศญี่ปุ่น และยังได้รับความสนใจจากเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และทำให้ทั่วโลกเห็นว่าผู้เพาะเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ปพัฒนาไปสู่ระดับสากลแล้ว

นอกจากนี้ กรมประมงได้หาแนวร่วมในการขับเคลื่อนขยายช่องทางการขนส่งสัตว์น้ำ โดยดึงพันธมิตรอย่างไปรษณีย์ไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีความพร้อม เข้ามาร่วมผลักดันด้านการขนส่งสัตว์น้ำ ผ่านการทำบันทึกข้อตกลง โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือล่าสุด เพื่อสรุปผลการทดสอบการขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิตผ่านระบบขนส่งไปรษณีย์ไทย

 

พร้อมทั้งร่วมกันพิจารณาเพิ่มชนิดสัตว์น้ำ ที่มีความสามารถในการดำเนินการขนส่งผ่านระบบไปรษณีย์ไทยเพิ่มเติมจากเดิมที่มี 7 ชนิด ได้แก่ ปลากัด ปลาสอด ปลาหางนกยูง กบ ปลาไหล กลุ่มหอยฝาเดียวและไข่หอย กลุ่มพรรณไม้น้ำ โดยจากผลการทดสอบฯ มีสัตว์น้ำมีชีวิตที่ผ่านการทดสอบเพิ่ม จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ สาหร่ายพวงองุ่น สาหร่ายผักกาดทะเล และเห็ดทะเล ซึ่งกรมประมงจะดำเนินการเพิ่มรายชื่อชนิด/กลุ่มสัตว์น้ำลงในเอกสารแนบท้ายบันทึกข้อตกลง เพื่อให้เกษตรกรสามารถขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิตดังกล่าวเพิ่มเติม ผ่านระบบไปรษณีย์ไทยได้ภายในเดือนก.ค.นี้ 

รวมทั้งหารือแนวทางการส่งออกสัตว์น้ำสวยงามไปต่างประเทศร่วมกับไปรษณีย์ไทย โดยพิจารณาขอบเขตความร่วมมือในการจัดทำบันทึกแนบท้ายข้อตกลงในการส่งออกสัตว์น้ำสวยงามไปต่างประเทศผ่านช่องทางไปรษณีย์ไทย เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้เพาะเลี้ยง ฟาร์ม ผู้ประกอบการที่ส่งออกปลากัดและปลาสวยงาม โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรทุกระดับสามารถดำเนินการส่งออกสัตว์น้ำไปยังต่างประเทศได้โดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อหวังให้เกิดการเรียนรู้ สร้างช่องทางในการแข่งขัน และเปิดทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น

 

 

#กรมประมง#ปลาสวยงาม#ปลากัด#บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด