ซื้อจริง จับจริง นำไปใช้ประโยชน์จริง เผยยอดรับซื้อปลาหมอคางดำ 1 เดือน 2298422 ก.ก. เน้นย้ำความเชื่อมั่น กรมประมงลุยแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องทุกมิติ

นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า ผลักดันให้รัฐบาลจัดงบประมาณ งบกลางเร่งด่วน เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ สำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณ จำนวน 97817400 บาท ให้แก่กรมประมง เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหา ภายใต้ 2 มาตรการหลัก ดังนี้ มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด จำนวน 92004056 บาท
มาตรการที่ 2 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ จำนวน 5813344 บาท โดยกรมประมงได้ดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมาผ่านจุดรับซื้อในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานีนครศรีธรรมราช และสงขลา แบ่งเป็น ราคารับซื้อปลาหมอคางดำ 15 บาท/กิโลกรัม(ก.ก.) และราคาค่าขนส่งและค่าบริหารจัดการรวบรวม 5 บาท/ก.ก. (จ่ายให้กับผู้รวบรวมหรือแพปลาที่เข้าร่วมโครงการฯ)

ปัจจุบันกรมประมงได้รับซื้อปลาหมอคางดำจากบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรและจากธรรมชาติ และได้จัดส่งให้กรมพัฒนาที่ดินและการยางแห่งประเทศไทยนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อในภาคเกษตร รวมแล้วกว่า 2298422 ก.ก. จากเป้าหมาย 3000000 ก.ก. (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2568) และนอกจากการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพแล้ว กรมประมงได้ดำเนินการสนับสนุนปัจจัยในการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากบ่อเพาะเลี้ยง อาทิ กากชา ปลาผู้ล่า และเครื่องมือประมงต่าง ๆ ที่ใช้ในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อช่วยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเตรียมบ่อ ภายหลังจากนำปลาจากบ่อมาขาย
รวมถึงยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อทำความเข้าใจและแนะนำวิธีการเตรียมบ่อเพื่อเพาะเลี้ยง ตลอดจนการให้ข้อมูลและนวัตกรรมต่าง ๆ ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางเลือก รวมถึงรณรงค์ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำแล้ว กรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดที่พบการแพร่ระบาดยังได้ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ทำกิจกรรมลงแขกลงคลองอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนปัจจัย อาทิ เครื่องมือการทำประมงให้ชุมชน เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป

นอกจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดและการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำที่กรมประมงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว ปัจจุบันยังมีมาตรการทางกฎหมาย เพื่อการป้องกันการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่น โดยกรมประมงได้มีการบังคับใช้กฎหมายภายใต้มาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีปลาหมอคางดำเป็น 1 ใน 13 ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง
อนึ่ง มาตรา 144 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ กรมประมง ได้ดำเนินการตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแต่ละพื้นที่ มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเร่งรัดให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีปลาหมอคางดำอยู่ในบ่อเร่งกำจัดออกจากบ่อ รวมถึงตรวจสอบที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำหรือมีเหตุให้สงสัยว่ามีการจำหน่ายปลาหมอคางดำให้กับโครงการของราชการ แบบมีการวนจำหน่ายซ้ำ และหากตรวจพบว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมายก็จะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีทันที
#กรมประมง#ปลาหมอคางดำ