กรมประมง ประกาศ “ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน 3 เดือน” ควบคุมการทำประมงเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ในพื้นที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง เริ่ม 1 เม.ย.นี้

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ กรมประมงจัดพิธี “ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2568” (ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน) บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย.นี้ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง 4696 ตารางกิโลเมตร เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ และรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศไว้อย่างยั่งยืน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีฯ ว่า ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจงานการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ชาวประมงและประชาชนมีส่วนช่วยกันอนุรักษ์และทำประมงให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสูงสุด ภายใต้แนวคิด “สัตว์น้ำมีใช้อย่างยั่งยืน” ควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพประมงที่มั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวประมง ตามนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรฯ

สำหรับมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ตามประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 22 มี.ค. 2561 ได้กำหนดการบังคับใช้มาตรการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.– 30 มิ.ย.ของทุกปี ครอบคลุมพื้นที่ 4696 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่บางส่วนของจ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่แหลมพันวา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาทางวิชาการในปี พ.ศ. 2567 กรมประมงได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรสัตว์น้ำ จากเรือสำรวจประมงและเครื่องมือประมงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงเวลาระหว่างมาตรการฯ (เม.ย.-มิ.ย.) สัตว์น้ำชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ อาทิ ปลาทู ปลาลัง และปลาหลังเขียว มีความสมบูรณ์เพศ สูงมากกว่าร้อยละ 80 อีกทั้ง ในช่วงก่อนมาตรการและระหว่างมาตรการ ปลาเศรษฐกิจวัยอ่อนยังมีความชุกชุมและแพร่กระจาย ในพื้นที่ที่บังคับใช้มาตรการ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม ที่มีความชุกชุมเฉลี่ย 577 ตัวต่อปริมาตรน้ำ 1000 ลบ.ม. และเดือนพ.ค. พบความชุกชุมเฉลี่ย 258 ตัวต่อปริมาตรน้ำ 1000 ลบ.ม. และเมื่อพิจารณาอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ยจากเรือสำรวจประมงที่ทำการสำรวจในเขตมาตรการ พบว่า ช่วงก่อนมาตรการ ระหว่างมาตรการ และหลังมาตรการ มีอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ย เท่ากับ 135.505 กก./ชม. 166.206 กก./ชม. และ 471.888 กก./ชม. ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ย ก่อนและหลังมาตรการ พบว่า อัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ย หลังมาตรการมากกว่าถึง 3.5 เท่า ของช่วงก่อนมาตรการ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายในมาตรการปิดอ่าวฝั่งอันดามันมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ และสามารถฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในทะเลอันดามันได้อย่างยั่งยืน

ภายในงานวันนี้ มีการประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกาศใช้มาตรการฯ และปล่อยขบวนเรือตรวจประมงทะเลออกปฏิบัติงานในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการมอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมง (กิจกรรมพัฒนาอาชีพชุมชนประมง) ประจำปี 2568 ให้แก่ชุมชนประมงท้องถิ่นทั้งหมด 22 กลุ่ม ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพและฟื้นฟูทรัพยากรประมง พร้อมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกุ้งกุลาดำและปูม้า จำนวน 1510000 ตัว ลงสู่ทะเลอันดามัน เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตและคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ
รวมถึง การจัดแสดงนิทรรศการนำเสนอข้อมูลความรู้ทางการประมงในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ การจัดแสดงผลการประเมินทางวิชาการมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำฝั่งทะเลอันดามัน การควบคุมบังคับใช้กฎหมายในช่วงมาตรการ นิทรรศการปลาทะเลสวยงาม การอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล การแปรรูปเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ Zero waste สู่ประมงยั่งยืน ฯลฯ และการจัดบูทจำหน่ายสินค้าประมงจากชุมชนประมงพื้นบ้าน 10 กลุ่ม ภายใต้ร้าน Fisherman Shop ที่การันตีคุณภาพของสินค้าได้ว่ามีความสด สะอาด ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

“กรมประมงมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน เป็นกลไกหนึ่งในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำโดยอาศัยความตระหนักและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่คุ้มค่าและยั่งยืน สุดท้ายกรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่มีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนและเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงต่อไป”อธิบดีกรมประมง กล่าว
#กรมประมง# พิธี “ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2568” (ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน)