วว. /สทนช./สวก. ผนึกกำลังเดินหน้าโครงการบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ชุมชนเหนือน้ำหนองกุดทิง จ.บึงกาฬ ด้วยระบบธรรมชาติบำบัดไฟโตเทคโนโลยี เพื่อใช้ในภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่โรงแรมเดอะวัน จ.บึงกาฬ นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิร ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) น.ส.กุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) หรือ สวก. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุน ร่วมเปิดตัว “โครงการการบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ชุมชนเหนือน้ำหนองกุดทิง ต.โนนสมบูรณ์ จ.บึงกาฬ ด้วยระบบธรรมชาติบำบัดไฟโตเทคโนโลยี เพื่อใช้ในภาคการเกษตร” พร้อมสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์กับหน่วยงานในพื้นที่ หน่วยงานการศึกษาและภาคประชาชน โดยมีพื้นที่เป้าหมายดำเนินงาน 2000 ตารางเมตร เพื่อลดปัญหาวัชพืชในแหล่งน้ำ ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับเกษตรกรรมในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมและสร้างศักยภาพให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและรักษาแหล่งน้ำให้สะอาดอย่างยั่งยืน
ในโอกาสนี้ คณะผู้บริหาร วว. ประกอบด้วย ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ) ดร.ปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร และคณะนักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ กองบริการธุรกิจและนวัตกรรม เข้าร่วมปฏิบัติงาน พร้อมสำรวจพื้นที่ติดตั้งระบบธรรมชาติบำบัดไฟโตเทคโนโลยีเพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำห้วยน้ำคำ

นายจุมพฏ กล่าวว่า จ.บึงกาฬยินดีต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน บึงกาฬจัดตั้งเป็นจังหวัดในลำดับที่ 76 และเป็นลำดับล่าสุดของประเทศไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองที่สำคัญของแถบลุ่มแม่น้ำโขง บริหารดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ ” เมืองยางพารา การเกษตรก้าวหน้า ประตูการค้าอินโดจีน และการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง” มีพันธกิจคือ 1) พัฒนายกระดับการผลิตและการแปรรูปยางพารา และการเกษตรกรรมด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อการส่งออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอนุภาคลุ่มน้ำโขง
2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีมาตรฐานอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3) พัฒนาและส่งเสริมการค้าชายแดน พัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง และ 4) พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตคน ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการดำเนินโครงการการบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำฯ ของภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อจังหวัดบึงกาฬและสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า บึงกาฬเป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินงานของ วว. ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าจากยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมา วว. ได้อบรมสร้างมูลค่าเพิ่มน้ำยางพาราเป็น น้ำยางข้น ถุงมือผ้าเคลือบยาง การผลิตถ่านจากเศษไม้ทิ้งยางพารา และนอกจากยางพาราแล้วในโครงการนี้ยังทำการวิจัยด้านบำบัดและฟื้นฟูคุณภาพแหล่งน้ำหนองกุดทิง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดฯ เป็นแหล่งน้ำที่มีระบบนิเวศเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
อีกทั้งเป็นแหล่งน้ำที่มีการใช้ประโยชน์มากกว่า 50% ทั้งในภาคเกษตรกรรม ประมงและการใช้ในชีวิตประจำวัน โดยพื้นที่วิจัยของโครงการฯ จะอยู่ในส่วนพื้นที่ห้วยน้ำคำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนองกุดทิง ปัจจุบันประสบปัญหาการเติบโตของวัชพืชน้ำเป็นวงกว้างโดยเฉพาะจอกหูหนูยักษ์ ที่มีสาเหตุมาจากน้ำทิ้งครัวเรือนและเกษตรกรรม จากการที่เกษตรกรต้องการให้มีปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่มากขึ้นด้วยการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ส่งผลให้น้ำทิ้งทางการเกษตรกลายเป็นอาหารหลักของวัชพืชในแหล่งน้ำ ทำให้น้ำเกิดความเสื่อมโทรมเป็นวงกว้างและระบบนิเวศแหล่งน้ำถูกทำลายโดยวัชพืชที่เติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ต้องรีบเร่งและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ ชุมชนสามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตร การประมง และบริโภคได้อย่างเพียงพอและปลอดภัย

ดังนั้น วว. และ สทนช. จึงได้ร่วมกันพัฒนาโครงการฯ เพื่อแก้ปัญหาวัชพืชในแหล่งน้ำด้วยระบบธรรรมชาติบำบัดไฟโตเทคโนโลยี ในพื้นที่ห้วยน้ำคำ 2000 ตารางเมตร โดย วว. นำเทคโนโลยีการบำบัดน้ำด้วยระบบรรรมชาติบำบัดมาใช้ในพื้นที่ ขณะที่ สทนช. ร่วมผลักดันด้านนโยบาย และ สวก. สนับสนุนงบประมาณในการวิจัย โดยโครงการจะใช้พืชในการบำบัดน้ำ เน้นพืชที่ชุมชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ก่อให้เกิดอาชีพ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาแหล่งน้ำ นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การลดผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืนด้วย
ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำด้วยไฟโตเทคโนโลยี (Phytotechnology) เป็นการนำพืชมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการออกแบบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระบบไฟโตเทคโนโลยีจึงเป็นวิธีที่มุ่งเน้นความสามารถของพืชในการกำจัดมลพิษออกจากสิ่งแวดล้อม โดยการใช้พืชและจุลินทรีย์ที่รากพืช เช่น ต้นกก บัว พุทธรักษา เป็นต้น ในการย่อยสลาย กำจัดและดูดซับสิ่งปนเปื้อนหรือมลพิษที่อยู่ในดิน ในน้ำ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาน้ำเสียและระบบนิเวศให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน ส่งเสริมการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการสร้างต้นแบบพื้นที่รองรับน้ำทิ้งชุมชนให้สามารถบำบัดด้วยระบบไฟโตเทคโนโลยี เพื่อให้น้ำที่ผ่านการบำบัดไหลสู่เส้นทางหลักน้ำหนองกุดทิง อีกทั้งระบบนี้จะช่วยลดจำนวนวัชพืชในแหล่งน้ำ เพื่อให้ชุมชนได้ใช้น้ำสะอาดสำหรับการเกษตรได้อย่างยั่งยืนทั้งในและนอกฤดูกาล เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ชุมชนจะมีส่วนร่วมในการรักษาระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน โดยมีการจัดทำคู่มือการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบไฟโตเทคโนโลยี การทำงานร่วมกับท้องถิ่น อบต. เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการดูแลรักษาระบบบำบัด และการขยายผลการใช้ประโยชน์ของระบบบำบัดสู่พื้นที่ใกล้เคียง

“...การพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นทางเลือกให้กับพื้นที่ชุ่มน้ำหนอกกุดทิงได้ใช้ประโยชน์ โดยระบบบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือรักษาระบบนิเวศวิทยาแบบยั่งยืน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำ ชาวบ้านหรือคนพื้นที่สามารถดำเนินการเองได้ โดยใช้กลไกธรรมชาติในการบำบัดตนเอง อีกทั้งเทคโนโลยียังสามารถปรับไปตามบริบทของสถานการณ์หรือ สภาพแวดล้อมจริง ประชาชนสามารถเลือกใช้องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา รวมถึงหาวิธีการดูแล รักษาแหล่งทรัพยากรน้ำไม่ให้ถูกทำลาย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้น้ำที่สะอาดทั้งอุปโภคและบริโภค รวมถึงพืชที่ใช้ในระบบบำบัดยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับชุมชน ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาแหล่งน้ำได้อย่างยั่งยืน...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า “หนองกุดทิง” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ในจังหวัดบึงกาฬ ถูกประกาศเป็น ramsar site หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก มีเนื้อที่ประมาณ 16000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลบึงกาฬ ตำบลโนนสมบูรณ์ ตำบลโคกก่อง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และการประมง โดยประสบปัญหาการแพร่กระจายของวัชพืช หรือจอกหูหนูยักษ์ ที่มีพัฒนาการเปลี่ยนรูปร่างเป็นกลุ่มก้อน เป็นแพ และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วแหล่งน้ำ สาเหตุเกิดจากสารอาหารที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำมีจำนวนมาก ได้แก่ ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของจอกหูหนูยักษ์และวัชพืชต่างๆ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้เกิดจากกิจกรรมการใช้น้ำของประชาชนในชุมชนใกล้แหล่งน้ำ และกิจกรรมทางเกษตรที่มีการใช้สารเคมีปริมาณมาก
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สทนช. และ วว. ในการนำแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือ Nature – Based Solutions (NbS) ผ่านการประยุกต์ใช้ไฟโตเทคโนโลยีหรือการบำบัดน้ำเสีย โดยอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติของพืชและจุลินทรีย์ในแหล่งน้ำ ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำและฟื้นฟูระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติห้วยน้ำคำก่อนไหลสู่หนองกุดทิง ช่วยลดปริมาณแร่ธาตุสารอาหารส่วนเกินในแหล่งน้ำที่เอื้อต่อการขยายพันธุ์ของจอกหูหนูยักษ์และวัชพืชต่างๆ รวมถึงการลดปริมาณโลหะหนักที่อาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยเพิ่มคุณค่าทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์น้ำต่างๆ คืนธรรมชาติให้กลับมามีความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกทางหนึ่ง
“โครงการนี้ นับเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและสถาบันวิจัย ในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม สอดรับกับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ในด้านที่ 4 การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน จะช่วยฟื้นฟูความสมดุลของแหล่งน้ำธรรมชาติ แก้ไขปัญหาวัชพืชที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการร่วมดูแลและรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด อันจะเป็นการพัฒนาระบบนิเวศและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

น.ส.กุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนว่า สวก. เป็นผู้นำในการบริหารการวิจัยการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการวิจัยการเกษตร พัฒนานักวิจัยการเกษตรมืออาชีพเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลงานวิจัยด้านการเกษตรที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ การดำเนินโครงการฯ ร่วมกันในครั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะสร้างความยั่งยืนให้กับจังหวัดบึงกาฬและพื้นที่ใกล้เคียง อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนในการบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ชุมชน และเป็นโมเดลต้นแบบในการต่อยอดสู่การดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป
#สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) #กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) #สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) #สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) หรือ สวก#โครงการการบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ชุมชนเหนือน้ำหนองกุดทิง ต.โนนสมบูรณ์ จ.บึงกาฬ
