เมื่อ : 30 มี.ค. 2568

กรมประมง หนุนเทรนด์อาหารปลอดภัย นำร่องใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก : QR Trace On Cloud ในผลิตภัณฑ์ปลานิลอินทรีย์ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูดำเหมยซานเกษตรพอเพียง บ้านทุ่งต้อม อ.เทิง จ.เชียงราย สนองนโยบาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นให้มีการบูรณาการภารกิจร่วมกับหน่วยงานในสังกัด  และสอดรับกับนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยขับเคลื่อนภาคเกษตรและอาหารภายใต้ “3S” (Safety Security & Sustainability) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการสื่อสารด้านความปลอดภัยทางอาหาร และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงขยายช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรในรูปแบบออนไลน์


นายประเทศ ซอรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคต่างให้ความใส่ใจต่อความปลอดภัยทางด้านอาหาร รวมถึงให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตและแหล่งที่มาของวัตถุดิบผ่านการเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีการรับรองมาตรฐานโดยมีฉลากระบุข้อมูลที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  กรมประมงจึงได้พัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานและการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงตลอดสายการผลิต  เพื่อให้สามารถติดตามแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่แหล่งจับจนถึงมือผู้บริโภค  โดยนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้าสัตว์น้ำมากขึ้นแล้ว ยังเพิ่มความโปร่งใสในการป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย รวมถึงส่งเสริมการทำประมงแบบยั่งยืนอีกด้วย

ล่าสุด กรมประมง โดยกองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น ได้นำระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ QR Trace On Cloud  ซึ่งเป็นระบบที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตร ที่ได้การรับรองมาตรฐานได้มีการจัดเก็บข้อมูลที่ช่วยในการบริหารจัดการกระบวนการผลิตสินค้า ตั้งแต่แหล่งปลูก การรับวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต การตรวจสอบคุณภาพ การบรรจุ และการจัดจำหน่าย โดยการจัดทำ QR Code รายล็อตติดบนตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสามารถสื่อสารข้อมูลสินค้าและผลิตภัณฑ์ตลอดเส้นทางการผลิตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รองรับสินค้าในกลุ่มผัก ผลไม้ ข้าว ปศุสัตว์ ไข่ และประมง รวมถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูป


สำหรับในปีงบประมาณ 2568 กรมประมงได้เริ่มนำร่องใช้ QR Trace On Cloud ในผลิตภัณฑ์ปลานิลอินทรีย์ ซึ่งผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูดำเหมยซานเกษตรพอเพียง บ้านทุ่งต้อม อ.เทิง จ.เชียงราย โดยมีจุดเด่นในด้านการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อร่วมกันผลิตสินค้าเกษตรรูปแบบอินทรีย์ที่ครบวงจรและมุ่งมั่นในการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีการยื่นขอรับการรับรองมาตรฐานระบบการผลิตปลานิลอินทรีย์กับกรมประมงจนได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์เป็นเครื่องหมายยืนยันความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อีกทั้งมีการจัดจำหน่ายในตลาดอาหารปลอดภัยอย่าง Lemon Farm และ Fisherman Shop ซึ่งรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ  นอกจากนี้ ยังมีผู้นำและทีมเกษตรกร Smart Farmer ที่มีความทันสมัย ทันต่อเทคโนโลยี สนใจการขยายโอกาสทางการตลาดสมัยใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอยู่เสมอ

น.ส.พิชญาภา ณรงค์ชัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูดำเหมยซานเกษตรพอเพียง กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มฯ มีสมาชิก  187ราย เน้นการทำกิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลาย ทั้งการเลี้ยงหมูดำเหมยซาน เลี้ยงวัวและไก่พื้นเมือง  การปลูกข้าวอินทรีย์ พืชผักสวนครัว ร่วมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบอินทรีย์ ได้แก่ ปลานิล และ กบ ในลักษณะที่เกื้อกูลมีการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรระหว่างกลุ่มเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น วัตถุดิบเหลือจากการผลิตปลานิลนำมาผลิตอาหารสัตว์ แหนและใบหม่อนตากแห้งใช้ในการผลิตข้าวอินทรีย์ การนำมูลสัตว์มาใช้เป็นปุ๋ยคอกสำหรับเพาะปลูก ฟางข้าวนำมาใช้เลี้ยงปลานิล เป็นต้น ทำให้เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ที่มีกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ และประมงอินทรีย์ 


รวมไปถึงการแปรรูปผลผลิตสินค้าอินทรีย์สร้างมูลค่า โดยจัดจำหน่ายในตลาดของกลุ่มผู้รักสุขภาพ ซึ่งจากการนำระบบ QR Trace On Cloud มาใช้ในผลิตภัณฑ์ปลานิลอินทรีย์ พบว่าช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้ามั่นใจในผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานของกลุ่ม เนื่องจากมีการแสดงข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน อีกทั้งยังช่วยดึงดูดความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรภายในกลุ่มเป็นอย่างดี


รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ในปีงบประมาณ 2569 กรมประมงมีแผนจะขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ กลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชน ในสินค้ากลุ่มปลากะพง กุ้งก้ามกราม และกบ ต่อไป โดยเชื่อมั่นว่าระบบ QR Trace On Cloud ดังกล่าวนี้ จะช่วยให้เกษตรกรภาคประมงได้มีแหล่งรวบรวมข้อมูลเพื่อช่วยติดตามและตรวจสอบย้อนกลับสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้ตลอดสายการผลิต ลดความสูญเสียกรณีพบข้อบกพร่องของสินค้าที่ผลิต โดยสามารถเรียกคืนเฉพาะล็อตที่มีปัญหาได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคต่อสินค้าผลิตภัณฑ์ประมงได้มากขึ้น อีกทั้งสร้างโอกาสทางการแข่งขันและเปิดช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ให้กับเกษตรกรภาคประมงอีกด้วย

 

สำหรับเกษตรกรด้านประมงท่านใดที่มีความประสงค์จะใช้งานระบบ QR Trace on Cloud สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ กองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น โทรศัพท์ 02 562 0600 ต่อ 14514  และ Facebook Page : กองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น

 

#ระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก : QR Trace On Cloud#กรมประมง#กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูดำเหมยซานเกษตรพอเพียง 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ