สวทช. - พันธมิตร อัปเดตเทรนด์ AI และการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่อาคารซอฟต์แวร์พาร์ค: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ร่วมกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สถาบันไอเอ็มซี สถาบัน KCT Academy สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บริษัท โอไร้อัน อินเว็สทิเกชั่น จำกัด และบริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด จัดงานสัมมนาหัวข้อ ”Top 10 Technology & Cyber Security Trends and Updates 2025” เพื่ออัปเดต 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2568 และเทรนด์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในมุมของจริยธรรมและสายอาชีพ รวมถึงวิธีการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์หากภาคธุรกิจหรือประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อจากสารพัดกลโกงบนโลกออนไลน์ โดยมีดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนา
ดร.สมบุญ กล่าวว่า สวทช. มีภารกิจในการมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยการนำความ สามารถและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยให้ ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานได้ดีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่ง สวทช. ได้ดำเนินงานผ่านการทำงานร่วมกันของศูนย์แห่งชาติ ทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ที่มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ที่มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัสดุต่างๆ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ที่มุ่งพัฒนางานด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ที่มุ่งพัฒนางานด้านนาโนเทคโนโลยี และศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ที่มุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ
ทั้งยังมีเครื่องมือ บุคลากร บริการ และโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อีกทั้งโปรแกรมต่าง ๆ ที่ช่วยสนับสนุนและยกระดับสร้างความเข้มแข็งให้กับทั้งบุคลากร SMEs สตาร์ตอัป และภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยวิยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ให้สามารถแข่งขันบนเวทีระดับโลกได้

สำหรับการสัมมนาหัวข้อ Top 10 Technology & Cyber Security Trends and Updates เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปี ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่ออัปเดตแนวทาง แบ่งปันและถ่ายทอดความรู้เรื่องแนวโน้มของเทรนด์เทคโนโลยี และภัยคุกคามทางดิจิทัลที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง รวมไปถึงให้ความรู้ด้านอาชีพและทักษะของบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ต้องปรับตัวเมื่อเทคโนโลยีอย่าง AI กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้องค์กรและบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล ได้มีแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ วางแผน และเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง

ในปี 2567 ที่ผ่านมา ทางซอฟต์แวร์พาร์คฯ จัดกิจกรรมอบรมและสัมมนา เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลมากกว่า 2500 ราย ผ่านหลักสูตรและโปรแกรมต่าง ๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารระดับสูง นักพัฒนา หรือกลุ่มผู้ที่ต้องการได้รับประกาศนียบัตรในระดับสากล นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมสนับสนุนผู้ประกอบการทางธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมศักยภาพรองรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลของประเทศ และรวมไปถึงบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการพื้นที่สำนักงาน และห้องอบรม/สัมมนา
ภายในงานสัมมนาฯ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ. ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี ได้เล่าถึงความน่าสนใจเกี่ยวกับ Top 10 Technology และแนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัลในปี 2025 ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านปัญญาประดิษฐ์กระทรวง อว. ให้มุมมองเรื่อง AI และแง่มุมจริยธรรม สังคม กฎหมาย และเศรษฐกิจ
นายไกรกิติ ทิพกนก ผู้อำนวยการสถาบัน KCT Academy อัปเดตถึงทักษะที่จำเป็นต้องมีในปี 2025 ของบุคลากรในสาย Business Analyst (BA) ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงกลางระหว่างงานธุรกิจและงานเทคโนโลยี รศ.ดร.วฤษาย์ ร่มสายหยุด สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มการวิเคราะห์ข้อมูลที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ทั้ง Agentic AI และ XAI ในปี 2025 นายสมิทธ์ ณ นคร หัวหน้าหน่วยสืบสวนไฮเทค บริษัท โอไร้อัน อินเว็สทิเกชั่น จำกัด ให้ความรู้เรื่องทักษะนิติวิทยาศาสตร์ทางดิจิทัล (Digital Forensics) เบื้องต้นที่คุณควรต้องมีเมื่อไปหลงกลภัยออนไลน์ ปิดท้ายด้วย นายปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด ได้แชร์ประสบการณ์และวิธีการป้องกันจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
สำหรับผู้สนใจในบริการทางด้านการพัฒนาบุคลากร หรือพัฒนาผู้ประกอบการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงบริการด้านพื้นที่ของทางเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-583-9992 02-564-7000 หรือติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก: Software Park Thailand www.swpark.or.th
#เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย #สถาบันไอเอ็มซี สถาบัน KCT Academy #มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช #บริษัท โอไร้อัน อินเว็สทิเกชั่น จำกัด #บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด#