เมื่อ : 20 ก.พ. 2568

 
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี  จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือการขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภายใต้โครงการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดนวัตกร วิศวกร และนักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว (Super AI Engineer Season 5) ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจาก นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในงาน พร้อมกับการกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ”แนวทางนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Disruption)”


นอกจากนี้ ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “บพค. กับ การพัฒนาคนสมรรถนะสูงด้านปัญญาประดิษฐ์” ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ปาฐกถา ในหัวข้อ “ปัญญาประดิษฐ์กับการพัฒนาคนเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน”และการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์จะช่วยประเทศไทยได้อย่างไร ? โดย ดร. ศวิต กาสุริยะ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมทร.ธัญบุรี คุณกวีวุฒิ  เต็มภูวภัทร Chief Innovation Officer SCBX คุณอำนาจ สิงหจันทร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ภายในงาน ได้สะท้อนถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อย่างแท้จริง โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้งจากหน่วยงานที่ดำเนินโครงการ Super AI Engineer Season 5 และหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุน มาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก อาทิ ผศ.ดร.นงนุช เกตุ้ย หัวหน้าโครงการ Super AI Engineer Season 5 ผู้บริหารจาก LG SCBX บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด AXONS Corporate เดอะไพน์ รีสอร์ท บริษัท อัลโต้เทค โกลบอล จำกัด SCG บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด บริษัท ทัชเทค โซลูชั่น จำกัด ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภูมิภาค 5 ศูนย์ และมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย เป็นต้น


นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ”แนวทางนโยบายของกระทรวงอว. ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Disruption)” ว่า ปัญหาด้าน AI ของประเทศไทย พบว่ามี 2 ปัญหาหลัก คือ การขาดแคลนบุคลากรและการประยุกต์ใช้ AI ยังมีน้อย รวมไปถึงแผนพัฒนา ทางกระทรวง อว. จึงได้กำหนดนโยบาย อว. for AI มุ่งเน้นการดำเนินการใน 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. AI for Education : การใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุด และเร็วที่สุด


 2. AI Workforce Development : การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสร้างพื้นฐานด้าน AI ให้คนไทยในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน และ 3. AI Innovation : การสนับสนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาด การพัฒนามาตรฐานและทดสอบ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความแพร่หลายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากดูข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ปัจจุบันมีการขาดแคลนคนทำงานด้าน AI กว่า 8 หมื่นคน แต่คน AI กว่าครึ่งไม่ได้ทำงานด้าน IT และธุรกิจยังมีความต้องการจ้างคนไปทำวิจัยพัฒนาในสัดส่วนที่สูงที่สุด (ร้อยละ 35)

ในขณะที่ ดร.ภาวดี  เน้นย้ำว่า วิสัยทัศน์ของ บพค. ที่เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ส่งเสริม สานพลัง ระบบ ววน. ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงและงานวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศไทยสู่อาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ อว. ด้าน AI Workforce Development ดังนั้น การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศแบบ demand driven ให้พร้อมรับการ disruption ของโลก จึงมีความสำคัญ ซึ่งเห็นได้จากการสนับสนุนทุนด้านพัฒนากำลังคน ด้าน AI ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการ AI for All โดยเฉพาะโครงการ Super AI Engineer ได้พัฒนาวิศวกรด้าน AI และกลุ่มผู้ใช้เครื่องมือ AI Tools (AI Beginner/Prompt Engineer) จำนวนมาก โดยจากข้อมูลสถิติของสำนักงานปลัดกระทรวงอว. ปีการศึกษา 2565-2566 มีบัณฑิตที่จบหลักสูตรสาขาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โดยตรง ไม่ถึง 500 คน โครงการ Super AI Engineer จึงมีส่วนในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนคนทำงานด้าน AI

 

ด้าน รศ.ดร.ปุ่น กล่าวว่า ในบทบาทของ บพท. มุ่งเน้นการสร้างงาน เพื่อต่อยอดกำลังคนด้าน AI ที่มีอยู่สู่ชุมชน หรือ AI Localization ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการพัฒนากำลังคน จาก บพค. สู่การสร้างงาน ในชุมชน ด้วย บพท.

นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์จะช่วยประเทศได้อย่างไร ? โดยดร. ศวิต  กล่าวว่า ในฐานะที่เนคเทคเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)” เรียกย่อว่า แผน AI แห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญา ประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและนําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งการพัฒนากำลังคนด้าน AI เป็นประเด็นสำคัญของยุทธศาสตร์ที่ 3 เป้าหมายในการพัฒนากำลังคนจำนวน 30000 คนในระยะเวลา 3 ปี โดยเน้นการสร้างบุคลากรใน 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน (Beginner) ระดับวิศวกร (Engineer) ระดับผู้เชี่ยวชาญ (Researcher) กำลังคนในที่นี้ ครอบคลุมถึงคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อุดมศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต กลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษา รวมถึงกลุ่มแรงงานของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน เรียกย่อว่า AI@School AI@University และ AI for Life Long Learning

 

“เนคเทคได้ร่วมสนับสนุนด้านงานวิชาการตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในการพัฒนาบุคลากรระดับ AI Engineer และงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ Lanta ที่ให้บริการในการทำกิจกรรมของค่าย Super AI ซึ่งโครงการในปีนี้ เนคเทคสนับสนุนการขับเคลื่อนกลุ่ม AI Innovator ซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมโดยใช้ผลงานคนไทยหรือ open source เนคเทคส่งเสริมการใช้งานแพลตฟอร์ม AI for Thai เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม AI Innovator ได้นำไปประยุกต์เข้ากับโจทย์ขององค์กร กลุ่มหรือชุมชนท้องถิ่น” ดร.ศวิตกล่าวเสริม

#เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์#แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)