เมื่อ : 28 ก.พ. 2568

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการเพื่อเผยแพร่และขยายผลการดำเนินงาน “ศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติด” โดยได้รับเกียรติจาก พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผช.ผบ.ตร.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ปราบปราม ป้องกัน ฟื้นฟู : ยุทธศาสตร์ตำรวจไทยเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน เพื่อสังคมปลอดยาเสพติด”


ในโอกาสนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. ได้มอบหมายให้ น.ส.ศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย วช. เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “วช. : พลังขับเคลื่อนงานวิจัยสู่แนวปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด” และการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.พล.ต.ต. ดร.ชัชนันท์ ลีระเติมพงษ์ รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และผู้บริหารศูนย์ DLET-Hub กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม 


พร้อมด้วย ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา หัวหน้าศูนย์ PSDP-Hub ให้การต้อนรับ รวมทั้งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารระดับสูงจากหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จ.นครปฐม

พล.ต.ท.ธนายุตม์  กล่าวว่า การประชุมทางวิชาการในครั้งนี้เป็นการเผยแพร่และขยายผลการดำเนินงานของ “ศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติด” ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างรุนแรง ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และความมั่นคง 


การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคน โดยศูนย์ทั้ง 2 แห่งนี้ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ โดยมีบทบาทในการรวบรวมองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อนำไปเผยแพร่และขยายผลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป การประชุมทางวิชาการในวันนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และแนวคิดในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

น.ส.ศิรินทร์พร กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว.ได้เดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติด 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนวาระแห่งชาติ การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม 


การทำระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม โดย วช. เป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ตั้งแต่การวิจัยจนถึงการนำไปใช้ประโยชน์ ไปสู่การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจรด้วยวิจัยและนวัตกรรม วช. ขอร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อสร้างสังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด

ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา กล่าวว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้รับการสนับสนุนทุนการทำกิจกรรม จาก วช. ในปีงบประมาณ 2566 จนถึงปัจจุบัน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดย ศูนย์ PSDP-Hub เป็นศูนย์กลางด้านความรู้ หรือ Hub of Knowledge เกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมกระบวนการสาธารณสุขและกระบวนการทางชุมชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดดำเนินการรวบรวมองค์ความรู้ด้านยาเสพติดจากฐานข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ


เป็นการดำเนินงานควบคู่ไปกับ DLET-Hub ศูนย์ DLET-Hub ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ หรือ Hub of Talents ที่ได้รวบรวมบุคลากรศักยภาพสูง จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติด เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และส่งต่อไปยังผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมการประชุม อบรม สัมมนา หรือเวทีทางวิชาการ โดยทั้ง 2 ศูนย์ฯ มีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร และเป็นพื้นที่คลังปัญญาของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

การประชุมครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมทั้งในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ประกอบด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และนักเรียน นักศึกษา เพื่อร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนถึงแนวทางด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเครือข่ายการทำงานร่วมกันในอนาคต นับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบและยั่งยืน


#สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)#โรงเรียนนายร้อยตำรวจ#ศูนย์ DLET-Hub#ลางองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติด