เมื่อ : 01 ก.พ. 2568

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ 7 มาตรการอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่ 1 ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำที่พบการแพร่ระบาด โดยการจับออกด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ  และมาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในมาตรการนี้เป็นการดำเนินการใน เฟส 2 โดยกรมประมงร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  ในการรับซื้อปลาหมอคางดำ  เพื่อนำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ปีงบประมาณ 2568 โดยประกาศเปิดรับสมัครแพปลาที่สนใจเป็นผู้รวบรวมปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ วันที่ 30 ม.ค.- วันที่ 5 ก.พ. ที่สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ และกรมประมงจะส่งเอกสารการรับสมัครให้ กยท. ตรวจสอบ โดยกรมประมงจะประกาศผลการพิจารณาและประกาศจุดรับชื้อ ภายในวันที่ 7 ก.พ. 

สำหรับการรับซื้อปลาหมอคางดำในครั้งนี้ เกษตรกร ประชาชน สามารถนำปลาหมอคางดำที่จับได้ไปจำหน่ายที่แพปลาที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ โดย กยท. จะรับซื้อปลาหมอคางดำจากแพปลา ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท (ค่าปลา 15 บาท ค่ารวบรวมและนำส่งของแพ 5 บาท) โดยแพปลาจะรวบรวมและนำส่งให้กับสถานีพัฒนาที่ดินและจุดผลิตของ กยท. เพื่อผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ โดยตั้งเป้าหมายการรับซื้อในเฟส 2 นี้ 
รวมทั้งสิ้น 600000 กิโลกรัม วงเงิน 12 ล้านบาท


นายบัญชา เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า สถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ปัจจุบัน พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ทั้งสิ้น 17 จังหวัด สามารถแบ่งได้ 2 ระดับตามความชุกชุม โดยจังหวัดที่มีความชุกชมปานกลาง จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี และจังหวัดที่มีความชุกชุมน้อย จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นนทบุรี นครปฐม กรุงเทพ สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช และสงขลา

 

ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในภาคของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ และนำไปใช้ประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามกรมประมงยังต้องดำเนินการตาม 7 มาตรการอย่างเข้มข้น เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป ควบคู่ไปกับการดำเนินการเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

 

 “สำหรับข้อห่วงกังวลทางสังคม ในประเด็น อาจมีผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางราย ทำการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เพื่อการจำหน่าย นั้น กรมประมงจะเร่งทำการประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลข่าวสาร พร้อมทั้งตรวจสอบพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ หรือมีเหตุให้สงสัยว่ามีการจำหน่ายปลาหมอคางดำให้กับโครงการฯ  แบบการวนจำหน่ายซ้ำ เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย มีบทลงโทษและต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป“นายบัญชา กล่าว


#กรมประมง# กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ #ปลาหมอคางดำ#น้ำหมักชีวภาพ