บวงสรวงปราสาทเมืองต่ำ สุกรี เจริญสุข

โครงการวิจัยไทยใหม่ พ.ศ. 2568 การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีและเพลงบวงสรวงปราสาทเมืองต่ำ นำเสนอบทเพลงประจำชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชนไทยใหม่ จัดขึ้นที่ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2568 เวลา 17.00-20.00 น. สนับสนุนโครงการโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ร่วมกับโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สื่อสาธารณะ
การบรรเลงเพลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เพื่อนำเสนอความไพเราะของดนตรีประจำชาติ การสร้างแรงบันดาลใจ การใช้ดนตรีเพื่อพัฒนารสนิยมและสติปัญญา เพื่อยกระดับความเท่าเทียมของดนตรี ขจัดความเหลื่อมล้ำทางดนตรี ตั้งแต่ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีประจำชาติ ดนตรีไทย ดนตรีคลาสสิก ดนตรีคือดนตรีเท่าเทียมกัน
ดนตรีเป็นเครื่องมือของมนุษย์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและสร้างความอบอุ่น ใช้ดนตรีเพื่อขจัดความกลัวในเวลาเดียวกันใช้ดนตรีเพื่อบวงสรวงบูชาต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ ตั้งแต่ผีสาง นางไม้ เทวดาฟ้าดิน เทวดาแถน พระอินทร์ พระพรหม รวมทั้งพระเจ้า มนุษย์ใช้ดนตรีเพื่อสื่อสารกับอำนาจที่ศักดิ์สิทธิ์ ดนตรีจึงมีพลัง
คนธรรพ์มีหน้าที่เล่นดนตรีเพื่อให้นางอัปสรร่ายรำ นางอัปสรเป็นนางบำเรอของพระอินทร์ มีอยู่ 26 นาง นางอัปสรมีอำนาจในการแปลงกาย ทำหน้าที่ขับร้องร่ายรำ จับระบำฟ้อน นางอัปสรเป็นเครื่องหมายของความเจริญงอกงาม ซึ่งในปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ มีรูปนางอัปสรอยู่จำนวนมาก

นางอัปสรนางใดไม่เป็นที่โปรดของพระอินทร์ก็ตกสวรรค์ไปเป็นเมียของคนธรรพ์ (นักดนตรี) นางอัปสรมีหน้าที่บำเรออยู่บนสวรรค์ เป็นกุศโลบายของศาสนาที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ ทำลายความเชื่อมั่นของศาสนาผีที่มีอยู่เดิม ศาสนาผีมีผู้หญิงเป็นใหญ่ นางอัปสรคือการกดทับให้ผู้หญิงเป็นได้แค่นางบำเรอ อยู่ในปราสาทที่เป็นศาสนสถาน ซึ่งมีศิวลึงค์และโยนีเครื่องหมายแสดงความเป็นใหญ่และเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์อยู่คู่กัน
นางอัปสรเป็นมรดกทางวัฒนธรรมยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ทั้งในความเชื่อของศาสนาผีและความเชื่อศาสนาฮินดู การฟ้อนรำในโรงเรียนพิมายวิทยา การฟ้อนของโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม หางเครื่องครูกำปั่น บ้านแท่น นางอัปสรฟ้อนรำของครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ รวมทั้งหางเครื่องวงดนตรีลูกทุ่ง อีสาน (นกน้อย อุไรพร) ล้วนเป็นมรดกตกทอดมาจากนางอัปสรของหมอผีและนางอัปสรของพระอินทร์ทั้งสิ้น
ศาสนาผีมีผู้หญิงเป็นใหญ่ หมอผีเป็นผู้หญิงจะร้องเล่นดนตรีเพื่อสื่อสารกับแถน (เทวดา) โดยใช้นางอัปสรเป็นสาวงามบริสุทธิ์ร่ายรำถวายและสื่อสารกับแถน นางอัปสรจะกลายเป็นเจ้าพิธี (หมอผี) จะเป็นผู้มีอำนาจในอนาคต เมื่อแต่งงานแล้วก็จะกลายเป็น “เจ้าสาว” เป็นเจ้านาย โดยมีผู้ชายเป็นขี้ข้าหรือ “เจ้าบ่าว”

การแสดงครึ่งแรก เป็นรายการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี 6 วง แสดงร่วมกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ควบคุมวงโดย ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล ได้แก่ (1) วงโมเมนตุ้ม (Momentoom) เพลงมรณานุสติ (2) วงเทมเปสต้าทริโอ (Tempesta Trio) เพลง Melodies of Siam (3) วงพิชชโลห์ เพลงโยคีถวายไฟ (4) วงพิรุณนาคาควินเตต (Pirun Naga Quintet) เพลง Light of River (5) วงไอน์ชลาก อองซอมเบิล (Einschlag Ensemble) เพลง Thai Folk Song Suite และ (6) วงไวโอลิมบา (Violimba) เพลงช้างแห่งสยาม (The Elephant of Siam)
การแสดงครึ่งหลัง เป็นรายการแสดงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ควบคุมวงโดย พันเอกพิเศษ ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ เริ่มด้วยเพลงโหมโรงช้าง เพราะช้างเป็นสัตว์สำคัญในการสร้างปราสาท เดี่ยวซอกันตรึม (ซอคอนแชร์โต) โดยครูกิ่ง ซอสุรินทร์ หมอผีน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ขับร้องเพลงคชสารโศกา ตำนานเนียงตวนสตรา พ่อพญาช้างเผือก เพลงเทพบิดา เพลงตับเขมร 3 เพลง เพลงจะอังกรอง เพลงปวงกะแอ้จ เพลงอาไยแทร็ย ซึ่งเป็นเพลงพิธีกรรมที่หมอผีขับร้องและฟ้อนโดยนางอัปสร เพื่อสื่อสารกับแถนหรือเทวดา
การเดี่ยวพิณเพลงสุดสะแนนเดินดง โดยครูคำเม้า พิณพระอินทร์ ขับร้องเพลงตามรอยพ่อ ผลงานของครูน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ โดยนางสาวญาณิศา ชมเชย นักเรียนโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม และโก้ แซกแมน

นำเสนอเพลงเครือญาติ ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ขับร้องโดย ธชย (เก่ง) ประทุมวรรณ ร่วมกับ โก้ แซกแมน เพลงคนไทย เพลงสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด เพลงเดินทาง เพื่อเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เป็นความรู้และความบันเทิง เชื่อว่าจะสร้างแรงบันดาลใจในมิติใหม่ให้แก่ผู้ฟังและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ซึมซับดนตรีท้องถิ่น จบงานลงด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์แผ่นดินของเราและเพลงสดุดีจอมราชา ขับร้องโดยวงปล่อยแก่บุรีรัมย์
