National Rice Field Day 2024 จัดวันที่1-10 ธ.ค.นี้ที่ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน

ในปี 2567 ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) และภาคีเครือข่ายศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย (Hub of rice) เล็งเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงและมีสายพันธุ์ข้าวต่าง ๆ และพันธุกรรมข้าวที่ได้รับการพัฒนาโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่จากบุคคล องค์กร สถาบันต่าง ๆ ของประเทศไทยน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและภาคเอกชน จึงร่วมกันจัดงาน National Rice Field Day 2024 เพื่อเป็นการแสดงองค์ความรู้ด้านข้าวของประเทศไทยและศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข้าว รวมทั้งนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ในระหว่างวันที่ 1-10 ธ.ค. ที่แปลงนาฝึกงานนิสิตคณะเกษตร มก.วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม

วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานคือการแสดงศักยภาพสายพันธุ์ข้าวดีเด่นที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์พืชแบบแม่นยำในแปลงนาภาคสนาม รวมทั้งสิ้น 102 สายพันธุ์ และการนำเสนอแนวคิดความยั่งยืนของโลกในรูปแบบศิลปะบนนาข้าว “SDGs” พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจและพืชมูลค่าสูง ในงานนี้ ทางไบโอเทค สวทช. โดยทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ซึ่งทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มก. วิทยาเขตกำแพงแสน ได้นำทาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์พืชสมัยใหม่ สายพันธุ์ข้าวเพื่อรักภาวะโลกรวนนำมาจัดแสดง โดยพันธุ์ข้าวเพื่ออนาคตรับโลกรวนนี้ มีคุณสมบัติต้านทานสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ ทนร้อน ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนเค็ม ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง ซึ่งพร้อมแล้วที่จะเผยแพร่สู่เกษตรกร และเป็นสายพันธุ์ข้าวศักยภาพสูงที่พร้อมให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปวิจัยต่อยอด รวมถึงเป็นงานแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการนำไปใช้ประโยชน์

ไฮไลท์ในงาน มีการแสดงพันธุ์ข้าว 102 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวในกลุ่มข้าวหอมพื้นนุ่ม กลุ่มข้าวขาว กลุ่มข้าวเหนียว และกลุ่มข้าวโภชนาการ พร้อมการแสดงแปลงนาข้าวสรรพสีที่สวยงามตระการตา และเปิดบูทให้ชิมข้าวต่าง ๆ พร้อมจองพันธุ์ข้าวในงานด้วย ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ไบโอเทคพัฒนา 4 สายพันธุ์ ได้แก่ หอมสยาม หอมสยาม2 ไบโอเทค1 และหอมชลสิทธิ์2
ผศ. ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ทางคณะผู้จัดงานทุกภาคส่วน ทั้งไบโอเทค สวทช. ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มก. กรมการข้าว และภาคีเครือข่ายศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย (Hub of Rice) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีความมุ่งหวังให้มีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคเกษตรของประเทศไทยรองรับภาวะโลกรวน เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทย ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาต่อยอดแบบก้าวกระโดด และนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้นต่อไป
