น้ำเปลี่ยนชีวิต พิษณุโลกต่อยอดโครงการพระราชดำริ โชว์ผลสำเร็จ พัฒนาพื้นที่ สร้างอาชีพ ยกระดับชีวิตสู่ความยั่งยืน

จ.พิษณุโลกประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ราษฎรมีน้ำใช้เพียงพอเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร พร้อมเตรียมขยายผลสู่พื้นที่ใหม่ ควบคู่พัฒนาอาชีพและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร. ) เปิดเผยในระหว่างติดตามนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จ.พิษณุโลก ระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคเหนือไว้เป็นจำนวนมาก เพราะมีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับกับที่ราบหุบเขา ทำให้เกิดแหล่งต้นน้ำลำธารและแม่น้ำหลายสายที่สำคัญของประเทศไทย จนมาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบาย สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรีในการติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานของโครงการฯ ตลอดจนรับทราบปัญหาอุปสรรคเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขของแต่ละโครงการให้ราษฎรได้รับประโยชน์สูงสุด

“ครั้งนี้ท่านองคมนตรีและคณะฯ ได้ติดตามการใช้ประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหินลาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หินลาด อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายใต้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.บ้านแยง อ.นครไทย โครงการประตูระบายน้ำบ้านป่าซ่านพร้อมอาคารประกอบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.บ้านพร้าว อ.นครไทย และโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ทั้ง 4 โตรงการนี้เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย และเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การทำเกษตรสำหรับราษฎร ซึ่งท่านองคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะในการขยายผลโครงการให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยสำนักงาน กปร. จะนำไปดำเนินการในการพัฒนาแหล่งน้ำให้มีคุณภาพเพื่อช่วยราษฎรให้มีน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์ และกว้างขวางมากขึ้น รวมถึงการดูแลป่าต้นน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน การพัฒนาอาชีพ เช่น การปลูกพืชที่หลากหลาย การแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามขั้นตอนต่อไป” นายศุภรัชต์ กล่าว

นางรุ่งเรือง เทิดดีมีชัย ราษฎรไทยชนเผ่าม้ง เกษตรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายใต้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านห้วยทรายเหนือ ต.ห้วยเฮี้ย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เผยว่า เมื่อก่อนปลูกขิง ปลูกกะหล่ำ แบบพืชเชิงเดี่ยว หลังจากมีอ่างเก็บน้ำจึงเปลี่ยนมาปลูกพืชแบบผสมผสาน ปลูกพริกไทยแซมด้วยทุเรียน และอะโวคาโด
“เมื่อก่อนปลูกขิง ปลูกกะหล่ำปลี ต้องทำในพื้นที่กว้าง ๆ ใช้แรงงานจำนวนมาก ทั้งต้องเริ่มต้นลงทุนปลูกทุกๆ ปี แม้ราคาดีแต่ผลผลิตไม่ดีก็ไม่ได้อะไร ถ้าผลผลิตดีแต่ราคาไม่ดีก็ไม่ได้อะไรเช่นกัน จึงทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน เมื่อเปลี่ยนมาปลูกพืชแบบผสมผสาน และยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต ก็ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง พืชชนิดไหนราคาตกก็ยังมีอีกชนิดมาทดแทน ทำเท่าที่กำลังในครอบครัวจะทำได้ ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานจากภายนอก
เรื่องน้ำไม่ห่วงเพราะมีอ่างเก็บน้ำห้วยทรายใต้ หน้าฝนน้ำไม่ท่วม หน้าแล้งไม่ขาดน้ำ ในอ่างมีปลาจับมากินได้อีก พริกไทยช่วงไหนราคาไม่ดีก็ชะลอการเก็บรอให้สุกแล้วเก็บมาทำเป็นพริกไทยดำทำให้ขายได้ทั้งปี มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 3 ไร่ 2 งาน ปีที่แล้วมีรายได้ 700000 – 800000 บาท โดยรายได้หลักจากผลผลิตพริกไทยทั้งพริกไทยสด และพริกไทยดำ และทุเรียนบางส่วน นับว่าเป็นรายได้ที่มั่นคง ทำให้มีรายได้อย่างพอเพียงสำหรับเลี้ยงครอบครัว พอมีเงินเก็บบ้าง และอยู่อย่างยั่งยืน” นางรุ่งเรือง กล่าว

สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยทรายใต้ฯ ในปี 2561 กรมชลประทานได้ดำเนินการปรับปรุงระบบส่งน้ำสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรด้านท้ายอ่างจำนวน 300 ไร่ เพื่ออุปโภคและบริโภคและทำการเกษตร ปัจจุบันมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกันบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนและฤดูแล้งได้อย่างเต็มศักยภาพ
นางน้ำนอง ทองอยู่ เกษตรกร หมู่ที่ 2 ต.ท้อแท้ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหินลาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หินลาด อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มไม้กวาด ชะลอม บ้านท่าช้าง เผยว่า อดีตทำนาปีละครั้งอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว มีพื้นที่ 10 ไร่ ได้ข้าวประมาณ 5 ตัน หลังจากมีอ่างเก็บน้ำบ้านหินลาด สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ทั้งนาปีและนาปรัง ได้ข้าวประมาณ 9 ตันต่อปี มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 60000 บาทต่อปี
“เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มีเจ้าหน้าที่จากเกษตรอ.วัดโบสถ์ เข้ามาสอนอาชีพเสริมด้านการจักสาน พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยให้ครูในพื้นที่สอนการจักสานในรูปแบบต่างๆ อาทิ การสานชะลอม ตะกร้า พัด และทำไม้กวาด เพื่อเป็นรายได้เสริมหลังจากช่วงการทำนา แม่บ้านในหมู่บ้านมารวมกลุ่มผลิตแล้วเอาไปขายที่ โรงเรียน วัด และค่ายทหารในพื้นที่ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 3000 - 5000 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ยังปลูกพืชผักสวนครัวรอบบ้าน เช่น พริก มะเขือพวง บวบ มะนาว ผลผลิตดีเพราะมีน้ำจากอ่างบ้านหินลาด โดยผลผลิตบริโภคภายในครัวเรือน บางรายมีจำนวนมากเหลือกินก็เอาไปขายทำให้มีรายได้อีกทางหนึ่ง หลังจากมีอ่างเก็บน้ำฯ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าเมื่อก่อนมาก” นางน้ำนอง กล่าว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่าง ที่ประสบปัญหาอุทกภัย และเพื่อการเพาะปลูก การอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ โดยสำนักงาน กปร. และ กรมชลประทาน ได้ร่วมกันสนองพระราชดำริ ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหินลาดและแล้วเสร็จในปี 2527 เป็นเขื่อนดิน ความสูง 9.3 เมตร สันเขื่อนกว้าง 4 เมตร ยาว 279 เมตร พร้อมอาคารระบายน้ำล้นและท่อระบายน้ำ มีความจุเก็บกัก 355000 ลูกบาศก์เมตร
ต่อมาในปี 2559 กรมชลประทานได้ปรับปรุงระบบส่งน้ำความยาว 2400 เมตร เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรในพื้นที่ 1000 ไร่ สำหรับปลูกข้าวในฤดูฝน 800 ไร่ และหน้าแล้ง 200 ไร่ ให้แก่ราษฎรจำนวน 180 ครัวเรือน โดยปลูกข้าวพันธุ์ กข 79 กข 85 และข้าวพันธุ์พิษณุโลก ปัจจุบันมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำหินลาด(อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ร่วมกันบริหารจัดสรรน้ำให้แก่สมาชิกอย่างทั่วถึง
#คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ#โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหินลาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หินลาด อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก#กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มไม้กวาด ชะลอม บ้านท่าช้า