เมื่อ : 29 ก.ย. 2567

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 52 ปี ยังคงมุ่งมั่นดูแลสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศให้มีความเข้มแข็ง เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์” สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร และยกระดับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีมาตรฐานตามแนวทางของอุดมการณ์หลักการวิธีการสหกรณ์อย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการ “เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์” ครบรอบ 52 ปี พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการจัดแสดงผลงานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยมี นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กว่า 600 คน ให้การต้อนรับ ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ ถนนกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 ให้แก่ผู้แทนสหกรณ์ จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น 4 ผลงาน ดังนี้ ผลงาน “วิถีกสิกรสู่วิถีกสิกรรมอย่างยั่งยืน สหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง จำกัด” จากสำนักงานสหกรณ์จ.ตาก ผลงาน “ยางพารา พลิกวิกฤตแก้จน คนกันทรอม” จากสำนักงานสหกรณ์จ.ศรีสะเกษ ผลงาน “เกษตรผสมผสานบ้านนาพูนร่วมใจ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน” ผลงาน “น้ำ - ข้าว เขาสะเอียบ Soft Power เมืองช่อแฮ”  จากสำนักงานสหกรณ์จ.แพร่ และประเภทสัมฤทธิ์ผลประชาชนแบบมีส่วนร่วม ระดับดี คือ ผลงาน “รวมใจพัฒนาหุบกะพง ขยายผลศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จากสำนักงานสหกรณ์จ.เพชรบุรี

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้กล่าวมอบนโยบาย ว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ขอให้ช่วยกันขับเคลื่อนงานของรัฐบาลโดยผลักดันให้สหกรณ์ภาคการเกษตรใช้หลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์” ให้สหกรณ์ภาคการเกษตรทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรในชุมชนแบบมืออาชีพ และครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ใช้อุปกรณ์การตลาดที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มศักยภาพทุกแห่ง มีการสร้างกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างอาชีพเสริมรวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการตลาดผลผลิตในสถาบันเกษตรกร เช่น ผัก ผลไม้ และข้าวสาร ให้เกิดผลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า ควรดำเนินการยกระดับศักยภาพของเกษตรกร และสหกรณ์ ภาคการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง โดยการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ทำระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ในพื้นที่การเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตให้ได้ปริมาณต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้เป็นที่ยอมรับของตลาด  ทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัย ประหยัดเวลาและแรงงานของเกษตรกรถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุค Farmer Aging Society สู่ยุคของ Smart Farmer ได้อย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ ให้ร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาร้านค้าสหกรณ์ให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรทั้งทางตรงและผ่านช่องทางออนไลน์ ผลักดันสหกรณ์ที่เป็นต้นแบบความสำเร็จด้านการบริหารจัดการสหกรณ์ร้านค้าให้มีความเข้มแข็ง โดยให้สมาชิกสหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้บริการของสหกรณ์มากขึ้นและต่อเนื่อง พร้อมทั้งผลักดันการเชื่อมโยงเครือข่ายร่วมกัน ระหว่างสหกรณ์ภาคการเกษตรและสหกรณ์นอกภาคการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น

“ให้บูรณาการทำงานระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์นำระบบโปรแกรมทางบัญชีที่ได้มาตรฐานมาใช้ในการบริหารงานสหกรณ์ และนำระบบแอพพลิเคชั่น การตรวจสอบสถานะทางการเงินของสมาชิก มาให้บริการแก่สมาชิกในการตรวจสอบสถานะทางการเงินปัจจุบันของตนเองเพื่อป้องกันและปราบปรามไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ขอให้ร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันภายใต้ภารกิจของกรมส่งเสริมสหกรณ์ตามแนวทางของอุดมการณ์หลักการและวิธีการสหกรณ์อย่างแท้จริง และขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตร    และสหกรณ์ ให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับสหกรณ์และ    กลุ่มเกษตรกรให้มีมาตรฐานและความเข้มแข็งที่สูงขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว


ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2568 กรมฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสหกรณ์   และขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล เดินหน้านโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ โดยมีเป้าหมาย 25% ของ NPL ควบคู่กับการสร้างอาชีพสร้างรายได้ พร้อมส่งเสริมปริมาณธุรกิจของสหกรณ์ในภาพรวมให้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 นอกจากนี้ ยังต้องดำเนินการฟื้นฟูสหกรณ์ที่ขาดทุนสะสมให้มีกำไร ร้อยละ 25 และพัฒนาสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งชั้น 1 ชั้น 2 เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 อย่างไรก็ตาม ได้วางเป้าหมายการทำงานเตรียมพร้อมเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ปี 68 ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรก พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ บุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์สหกรณ์ให้มีศักยภาพการทำงานสูงขึ้น สามารถเข้าไปดำเนินงานร่วมกับสหกรณ์ที่รับผิดชอบได้  มุ่งพัฒนาสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาลยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น

สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2515 มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ กำกับ และดูแลระบบสหกรณ์ของประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรที่ส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรด้วยนวัตกรรมและหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล 7 ประเภท แบ่งเป็นสหกรณ์ในภาคการเกษตร 3974 แห่ง  และสหกรณ์นอกภาคการเกษตร  3459 แห่ง รวม 7433 แห่งทั่วประเทศ และมีกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในการกำกับดูแล   กว่า 3959 แห่ง มีสมาชิกรวมกว่า 11 ล้านราย มีปริมาณธุรกิจรวมกว่า 2.5 ล้านล้านบาท


“สหกรณ์” เป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรที่มีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก มีหน้าที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของบุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จะต้องเข้าไปขับเคลื่อน ผลักดัน สร้างความรู้แก่สหกรณ์อย่างรอบด้าน พร้อมกับการมีธรรมาภิบาลเพื่อพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งเป็นองค์กรหลักสำคัญที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้มวลสมาชิกได้อย่างแท้จริง

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ