เมื่อ : 01 พ.ย. 2567

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่กรมประมงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จนสถานการณ์ในหลายพื้นที่เริ่มดีขึ้นตามลำดับ ภายใต้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการจับออกจากแหล่งน้ำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในภาคครัวเรือนและองค์กร อาทิ การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำน้ำปลาร้า  การทำปลาป่น ฯลฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจับปลาหมอคางดำ ร่วมกับทางภาครัฐ อีกทั้งขณะนี้กรมประมงยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากเนื้อของปลาหมอคางดำ ได้แก่ ปลาหยอง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูงและสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน รวมถึงยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ได้

นางพิชญา ชัยนาค ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ (กอส.) กรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งสามารถบริโภคได้สะดวกรวดเร็ว และเก็บรักษาได้เป็นเวลานานแม้ไม่ได้แช่ในตู้เย็น กอส. จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อปลาหมอคางดำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ “ปลาหยอง” และนำปลาหยองมาต่อยอดอีก 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำพริกปลาคั่วสมุนไพร และผงโรยข้าว สำหรับขั้นตอนการทำปลาหยองนั้น จะนำปลาหมอคางดำมาลอกหนังออก และล้างเนื้อปลาด้วยน้ำเกลือ เพื่อกำจัดไขมัน เลือด และกลิ่นคาว และนำไปนึ่งให้สุก ยีเนื้อปลาให้แยกเป็นฝอย ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ และน้ำตาลทราย คั่วด้วยไฟอ่อนจนแห้ง และนำไปอบให้แห้งด้วยตู้อบ ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นหอมของเนื้อปลาและซีอิ๊ว ทิ้งไว้ให้เย็นบรรจุลงภาชนะแบบมีฝาปิด

นอกจากนั้นยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ปลาหยองไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ “น้ำพริกปลาคั่วสมุนไพร” โดยเติมวัตถุดิบ กระเทียม หอมแดง ใบมะกรูดหั่นฝอย คั่วจนมีกลิ่นหอม พร้อมรับประทาน และยังมีเมนูยอดนิยมสไตล์ญี่ปุ่น เช่น “ผงโรยข้าว” โดยใช้ปลาหยองหมอคางดำแทนเนื้อปลาแห้ง ผสมกับสาหร่าย งาขาว งาดำ ปรุงรส ตามต้องการ ซึ่งทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้างต้น สามารถทำเพื่อบริโภคได้ในครัวเรือน หรือเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือนและชุมชนต่อไป

อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า ในระยะต่อไปภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ปี พ.ศ. 2567 – 2570 กรมประมงจะเร่งต่อยอดคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าถึงวิธีการแปรรูปและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากปลาหมอคางดำของกรมประมงได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ https://www4.fisheries.go.th/industry และ Facebook Page : กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ในรูปแบบ E-book และ Infographic รวมทั้งสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่านช่องทางโทรศัพท์  โทร 02 940 6130 – 45 ต่อ 4320 และ 4321