เมื่อ : 22 ต.ค. 2567

หากกล่าวถึงอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยในปัจจุบัน แน่นอนว่ากระแสภาพยนตร์และซีรีส์ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง เห็นได้จากความสำเร็จของภาพยนตร์และซีรีส์ไทยที่ส่งออกไปสู่สายตาและผู้ชมทั่วโลก ไม่เพียงเท่านั้นเหล่าคนทำหนังอย่างนักเขียนบท ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ ต่างก็เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในเวทีระดับสากลอีกด้วย อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยยังต้องการเหล่าคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ เข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลายและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากลให้อุตสาหกรรมคอนเทนทต์ไทยเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง


สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย จึงได้จัดทำโครงการ ‘Content Lab: Newcomers’ แพลตฟอร์มบ่มเพาะทักษะสำหรับกลุ่มคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ ใน 3 ภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โครงการ Content Lab 2024


การปลดล็อคสกิลของคนทำหนังหน้าใหม่ สู่ก้าวต่อไปบนเส้นทางอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย

สำหรับโครงการ Content Lab: Newcomers ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าสู่แคมป์ฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 8 วัน ซึ่งแต่ละทีมจะได้เรียนรู้เทคนิค ข้อมูล และโครงสร้างที่สำคัญและจำเป็นสำหรับงานภาพยนตร์และซีรีส์จากเมนเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรง ให้เข้าใจถึงการวางองค์ประกอบและเสริมโครงสร้างของเรื่องราวให้แข็งแรง เทคนิคของการเขียนบทภาพยนตร์ สามารถลำดับเรื่องราวได้อย่างเหมาะสม และวันสุดท้ายของแคมป์ แต่ละทีมจะต้องมานำเสนอผลงานแบบมืออาชีพในกิจกรรม Final Pitch ต่อคณะกรรมการเพื่อคว้าทุนในการพัฒนาโปรเจ็กต์


 

     สำหรับทีมจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทีม “หวย” ทีมประเภทซีรีส์ ที่เป็นการรวมตัวของ 3 สมาชิก กมลวรรณ เข็มเพ็ชร สิทธิโชค มิควัตร และชาติชาย ชมภูแดง ซึ่งสมาชิกในทีมแต่ละคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยความสนใจและมีเป้าหมายในสิ่งเดียวกันคือการเขียนบทและการทำงานด้านโปรดักชัน เมื่อเล็งเห็นโอกาสในการเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางที่ชื่นชอบทั้งสามจึงได้มารวมตัวกันและถ่ายทอดเรื่องราวใกล้ตัวคนไทยที่เข้าใจได้ไม่ยากและถือเป็นหนึ่งในซับคัลเจอร์ของไทยอย่างเรื่อง “หวย”


สมาชิกในทีมเล่าว่า “จุดเริ่มต้นของทีมมาจากการได้มีโอกาสร่วมฟังบรรยายโครงการ Content Lab 2023 ในปีที่ผ่านมา และเห็นว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ พอรู้ว่าปีนี้มีการเปิดรับสมัครจึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการชวนเพื่อนที่มีความสนใจเหมือนกันมารวมตัวกัน ในระหว่างที่อยู่ในแคมป์ทั้ง 8 วัน พวกเราได้เรียนรู้ระบบการทำงาน ทักษะ หรือเทคนิคใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้ รวมถึงยังได้พัฒนาตัวเองโดยมีเมนเทอร์ที่เชี่ยวชาญคอยช่วยให้คำปรึกษา ทำให้เกิดมุมมองใหม่ ระบบความคิด และเรียนรู้การวางแผนการทำงานที่ช่วยให้งานราบรื่นยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากที่จบโครงการมาแล้ว ทักษะความรู้ทุกอย่างที่ได้จากในแคมป์และเมนเทอร์ ก็ได้มีโอกาสนำมาต่อยอดและใช้กับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันได้จริง โดยทุนที่ได้จากโครงการนี้เป็นเหมือนเครื่องยืนยันว่าเรื่องที่ได้พัฒนาขึ้นมาด้วยกันมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง และตั้งใจที่จะพัฒนาบทของซีรีส์เรื่องนี้ให้เสร็จสมบูรณ์มากที่สุด”


ด้านทีมประเภทภาพยนตร์ขนาดยาวอย่างทีม “รักลื่นล้ม !” จากภาคเหนือ ที่มีจุดเริ่มต้นจาก สโรชา อินถนอม สมาชิกไฟแรงที่มีใจรักในการทำหนังได้นำเอาไอเดียเดิมที่เคยคิดไว้มาต่อยอด พร้อมกับชักชวนสมาชิกในทีมอย่างภัคศรัณย์ พลหาญ และชยาภรณ์ ปวนปินตา มาร่วมทีมและนำทักษะที่แต่ละคนเคยได้เรียนมาช่วยกันพัฒนาผลงาน โดยเรื่องราวนี้มีจุดมุ่งหมายในการถ่ายทอดประเด็นของความแตกต่างทางเพศในมุมมองใหม่ และอยากให้ผู้ชมได้สัมผัสกับประเด็นนี้ในด้านที่แตกต่างออกไป “ความแตกต่างทางเพศหรือเรื่องราวของ LGBTQIA เป็นหนึ่งในประเด็นทางสังคมที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง มีการถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ ซีรีส์  และมีฐานผู้ชมที่เพิ่มขึ้น แต่พวกเราอยากเล่าผ่านมุมมองใหม่ ๆ ที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง โดยในการทำงาน ทุกคนในทีมได้ช่วยกันพัฒนา แบ่งปันไอเดีย และเรียบเรียงเนื้อหามาด้วยกันอย่างเข้มข้นในเวลาที่จำกัด


การได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรงของวิทยากรและเมนเทอร์ในโครงการ Content Lab: Newcomers ทำให้ได้แนวคิดในการเล่าเรื่อง เปิดมุมมองที่กว้างขึ้นในด้านต่าง ๆ ที่ไม่เคยนึกถึง เช่น ด้านการสร้างตัวละคร การเล่าเรื่องผ่านภาพ โดยเฉพาะเรื่องของการทำ Pitch Deck ที่ถือเป็นสิ่งใหม่มาก และช่วยทำให้เห็นภาพกว้างได้มากขึ้นว่าถ้าจะต้องการพัฒนาบทให้สามารถขายได้จะต้องวางแผนและทำงานอย่างไรการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการและได้รับเลือกเป็นทีมที่ได้ทุนพัฒนาโปรเจ็กต์ในครั้งนี้ ทำให้รู้สึกภูมิใจกับผลงานที่ได้ช่วยกันพัฒนาขึ้นมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจากแค่เรื่องที่เคยคิดไว้ในหัว ตอนนี้เห็นภาพชัดเจนขึ้นและอยากทำให้เรื่องนี้ได้ไปต่อและเกิดขึ้นจริง”

ส่วนอีกหนึ่งทีมประเภทภาพยนตร์ขนาดยาวจากภาคกลาง ทีม “Landscape of Masquerade (Working Title)” เรื่องราวภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนแง่มุมในสังคมสุดเข้มข้น โดยสมาชิกในทีมเริ่มต้นจาก วรัตต์ บุรีภักดี และ กรภัทร์ จีระดิษฐ์ เพื่อนจากรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน และได้ชวน ฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ ที่ได้เจอกันในเทศกาลภาพยนตร์มาร่วมด้วย ทีมนี้จึงเป็นการรวมตัวของเหล่าคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ที่มีความหลงใหลและเริ่มต้นเดินทางผ่านเส้นทางการประกวด ทั้งสามเล่าว่า “แรงบันดาลใจในการเขียนบทมาจากประสบการณ์ส่วนตัวหรือความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เคยพบเจอ นำมาผสมกับคำถามหรือสิ่งที่อยากพูดเกี่ยวกับการเมืองหรือสังคมในแต่ละช่วงเวลา ถ่ายทอดเป็นหนังสั้นและส่งประกวด ต่อมามีความสนใจในการทำหนังขนาดยาวโดยเพราะคิดว่าจะสามารถนำเสนอเรื่องราวหรือวิธีการทำหนังที่สนุกหรือท้าทายกว่า จึงตัดสินใจส่งผลงานเข้ามาในโครงการ Content Lab: New Comers เพราะเห็นโอกาสในการพัฒนาโครงการและนำไปสู่สายตาคนนอก

  

ตลอดระยะเวลาการอมรมในแคมป์ แต่ละคนได้ใช้ทักษะและความถนัดในการพัฒนาผลงานอย่างเต็มที่ เผชิญกับเนื้อหาที่เข้มข้น การพัฒนาเรื่องที่ยากลำบาก แต่ก็ได้พบกับความสนุกระหว่างทาง จนได้รับทุนในการพัฒนาโปรเจ็กต์ แม้พวกเราจะรู้ว่าการได้รับทุนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นแต่มันก็เสริมสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองและทีมให้รู้ว่าผลงานนี้มีคนที่มองเห็นศักยภาพ ซึ่งพวกเราสัญญาใจกันแล้วว่า จะไม่หยุดแค่ตรงนี้ เราจะพัฒนาให้เป็นหนังออกมาจนได้”

 

จากความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ร่วมโครงการเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพด้านภาพยนตร์และซีรีส์ของคนไทย สอดรับกับเป้าหมายของโครงการ Content Lab 2024 ในปีนี้ ที่ได้ขยายขอบเขตการยกระดับและพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์ให้กว้างขึ้น โดย Content Lab: Newcomers เป็นการมุ่งเน้นและเปิดโอกาสพื้นที่ให้คนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ทั่วประเทศได้เตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย เพื่อช่วยเสริมสร้างความหลากหลายและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยในระดับสากล

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Content Lab 2024 ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ Content Lab รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ของ CEA ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th