ดนตรีกล่อมปราสาทที่พิมาย
มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่องดนตรีประจำชาติ นำเพลงมาพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชนไทยใหม่ โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำบทเพลงของท้องถิ่นมาเรียบเรียงและบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา
ทั้งนี้มีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นหุ้นส่วนเครือข่ายที่สำคัญในการบันทึกรายการแสดงของโครงการวิจัยครั้งนี้ หลักการที่สำคัญก็คือ ดนตรีประจำชาติและดนตรีในท้องถิ่นของไทย เป็นดนตรีที่บอกเล่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนชาวสยาม ดนตรีที่มีอยู่รักษาไว้โดยชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนหนังสือหรือไม่ได้ไปโรงเรียน เป็นดนตรีที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาชาติและไม่ได้อยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาแต่อย่างใด ซึ่งเป็นดนตรีที่บอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตในสังคม และเป็นประวัติศาสตร์ของชุมชนที่มีอยู่ทั่วไทย สำหรับคนที่ได้เรียนหนังสือมีความรู้สูง โดยเฉพาะผู้ที่เรียนจบจากต่างประเทศกลับมาเป็นผู้ปกครอง ก็ได้ไปเรียนรู้ “ความเป็นอื่นและวัฒนธรรมอื่น” แต่ไม่รู้จักวัฒนธรรมของตนเอง ไม่รู้วิถีชีวิตรสนิยม กลับไปชื่นชมนิยมความเป็นอื่น โดยเข้าใจเอาว่า “ตามเขาว่าเก่ง ทำเองว่าโง่” ดูถูกเหยียดหยามวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยซ้ำไป
เพลงประจำชาติ ดนตรีชาวสยาม และดนตรีในท้องถิ่นของไทย มีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมอยู่ ซึ่งการแสดงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราได้นำความร่ำรวยเรื่องของเพลง ศิลปวัฒนธรรมดนตรีที่ยังมีความไพเราะสวยงาม โดยใช้โอกาสนำบทเพลงมาเรียบเรียงเสียงใหม่เพื่อรับใช้สังคมสมัยใหม่ ดังนั้น มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เป็นผู้โชคดีที่ได้โอกาสในการนำเสนอบทเพลงเหล่านี้ต่อสังคม แม้ว่าจะมีข้อจำกัดและมีอุปสรรคที่หลากหลาย แต่ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจล่มสลายลง สามารถฝ่าฟันทำงานต่อไปได้
การนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราไปแสดงในพื้นที่ปราสาทหินพิมาย วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 17.00-20.00 น. ซึ่งไม่ได้มีหอแสดงดนตรี แต่แสดงในพื้นที่โล่งแจ้งภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จึงต้องทำความเข้าใจกับนักดนตรีเพราะเครื่องดนตรีมีราคาแพง เมื่อพื้นที่แสดงอยู่กลางแจ้ง ต้องอาศัยระบบเสียงที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยนำอุปกรณ์และวิศวกรเสียงทั้งหมดไปจากกรุงเทพฯ ขนขึ้นไปเพื่อการแสดงที่เมืองพิมาย การนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราไปแสดง ทำได้เพียงครั้งเดียว เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเปิดให้เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ใครจะเข้าชมและแต่งตัวอย่างไรก็ตามใจที่ชอบ จึงได้ชักชวนสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ไปถ่ายทำเพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้ชมทั่วประเทศได้รับชมในภายหลัง ทั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากเทศบาลต.พิมาย อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โรงเรียนพิมายวิทยา รวมถึงชุมชนเมืองพิมายด้วย
การแสดงครึ่งแรก เป็นรายการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี 6 วง แสดงร่วมกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ควบคุมวงโดย ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล ได้แก่ (1) วงโมเมนตุ้ม (Momentoom) เพลงมรณานุสติ จากโรงเรียนดุริยางค์ทหารอากาศ (2) วงเทมเปสต้าทริโอ (Tempesta Trio) เพลง Melodies of Siam จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (3) วงพิชชโลห์ เพลงโยคีถวายไฟ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (4) วงพิรุณนาคาควินเตต (Pirun Naga Quintet) เพลง Light of River จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (5) วงไอน์ชลาก อองซอมเบิล (Einschlag Ensemble) เพลง Thai Folk Song Suite จากวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ (6) วงไวโอลิมบา (Violimba) เพลงช้างแห่งสยาม (The Elephant of Siam) จากสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
การแสดงครึ่งหลัง เป็นรายการแสดงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ควบคุมวงโดย พันเอกพิเศษ ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ซึ่งนำบทเพลงที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นมาแสดง เริ่มด้วย (1) เพลงโหมโรงโคราช (Korat Overture) จากเพลงสาวงาม 32 อำเภอ เพลงลอยกระทง ผาวิ่งจู๊ แล้งในอก รักในอก ลาวคลึง (2) เพลงโหมโรงช้าง (Elephant Fossil Overture) จากพม่าเขว (เพลงช้าง) ช้างจับระบำ ช้างเต้นรำ ช้างเดิน ช้างม่อย ช้างกระโดด ปลุกซากช้าง (ฟอสซิล) มาแสดงให้มีชีวิต (3) เพลงโคราชขอต้อนรับ ขับร้องโดย นักเรียนจากโรงเรียนพิมายวิทยา ผลงานเพลงของกำปั่น บ้านแท่น ศิลปินแห่งชาติ เป็นเพลงเล่าเรื่อง (4) เพลงนางแมวขอฝน ขับร้องโดย กำปั่น บ้านแท่น
(5) เพลงโคราชซิ่ง ขับร้องโดย กำปั่น บ้านแท่น เพลงผสมกันระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นลาว (6) เพลงโคราชรุ่งเรือง ขับร้องโดย กำปั่น บ้านแท่น เป็นการนำเพลงท้องถิ่นมาใส่ดนตรีใหม่และเป็นพัฒนาการที่สืบทอดเพลงสำคัญ (7) เพลงคนกระโทก ขับร้องโดย กำปั่น บ้านแท่น ต้นตอของเพลงไทยเดิม (8) เพลงสาวงาม 32 อำเภอ ขับร้องโดย กำปั่น บ้านแท่น ด้วยทำนองเพลงที่นิยมแพร่หลาย เป็นต้นตอของเพลง “ลอยกระทง” เพลงแล้งในอก (9) เพลงหมาเก้าหาง ผลงานเพลงของสุจิตต์ วงษ์เทศ ขับร้องโดย นพพร เพริศแพร้ว (10) เพลงคางคกขอฝน (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ขับร้องโดย นพพร เพริศแพร้ว (11) เพลงขอม (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ขับร้องโดย นพพร เพริศแพร้ว และรายการสุดท้าย (12) เพลงของวงปล่อยแก่ เพลงแก้บนโคราช และเพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่ง ขับร้องโดย วงปล่อยแก่โคราช วงปล่อยแก่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ และวงปล่อยแก่ชมรมสายใย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพฯ
คณะกรรมการตัดสินการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี 6 ท่าน ประกอบด้วย ผศ.ดร.ทินกร อัตไพบูลย์ มหาวิทยาลัยนครพนม คุณเศกพล อุ่นสำราญ (โก้ มิสเตอร์ แซกแมน) ศิลปินนักดนตรี อาจารย์ดำริห์ บรรณวิทยกิจ ศิลปินศิลปาธร มหาวิทยาลัยศิลปากร ดร.ณัฐพร ผกาหลง อาจารย์สอนดนตรีโรงเรียนดนตรียามาฮ่า นักดนตรีอาชีพ คุณธชย ประทุมวรรณ (เก่ง) ศิลปินเพลง และอาจารย์บฤงคพ วรอุไร วิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งเป็นการรวบรวมบุคลากรดนตรีที่สำคัญของประเทศเป็นผู้ตัดสิน
สำหรับศิลปินที่ร่วมแสดงครั้งนี้ มีครูกำปั่น บ้านแท่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงโคราช) พ.ศ. 2564 คุณนพพร เพริศแพร้ว คุณเศกพล อุ่นสำราญ (โก้ มิสเตอร์ แซกแมน) นักแซกโซโฟนที่มีชื่อเสียงนานาชาติ ร่วมด้วยการวาดภาพประกอบงานโดย ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินนานาชาติ
ต้องขอขอบคุณเทศบาลตำบลพิมาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมมาก พิมายมีความเป็นเมืองที่ได้สืบทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่องเป็นพันปี มีศิลปิน นักร้อง ช่างฟ้อน และดนตรียังดำรงคงอยู่ การจัดงานในพื้นที่เทศบาลตำบลพิมายโดยนำวัฒนธรรมมาขายให้นักท่องเที่ยว เป็นต้นแบบที่น่าศึกษายิ่ง หากเมืองอื่นๆ จะนำไปดูเป็นตัวอย่างในการพัฒนาและรักษาวัฒนธรรมของเมืองไว้ สามารถศึกษาที่พิมายได้ดนตรีกล่อมปราสาทที่เมืองพิมาย ด้วยความเคารพในวิถีชีวิตของบรรพชนที่สร้างเมืองและได้สร้างภูมิปัญญาทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ดนตรีกล่อมปราสาทหินพิมาย โดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ไม่ได้กล่อมแค่ก้อนหิน แต่เป็นการสักการบูชา กล่อมจิตวิญญาณที่ทับถมกันมาตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน ด้วยจิตศรัทธาคารวะ
สุกรี เจริญสุข