เมื่อ : 23 พ.ค. 2568

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ รรท. เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เปิดเผยว่า ปส.อว. เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของท่านศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เน้นความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ โดยเฉพาะการบริหารจัดการกระบวนการกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสีเพื่อประโยชน์ของประเทศ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลอย่างสูงสุด ปส. จึงร่วมมือกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ “International Workshop of the Regulatory Forum for Safety of Uranium Production and Naturally Occurring Radioactive Materials (REGSUN)” ระหว่างวันที่ 19 – 23 พ.ค. ที่ห้องประชุมใหญ่ ปส. โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 65 คนจากทั้งไทยและต่างประเทศ รวม 34 ประเทศ


การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อทบทวนความคืบหน้าของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยของกระบวนการผลิตยูเรเนียม และการจัดการวัสดุกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ (Naturally Occurring Radioactive Materials: NORM) ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติและมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

นพ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการ แนวปฏิบัติที่ดี และประสบการณ์ด้านการกำกับดูแลจากประเทศสมาชิก IAEA ทั่วโลก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ ปส. ในการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางรังสีของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตลอดจนส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการความปลอดภัยของวัสดุกัมมันตรังสีตามธรรมชาติและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับยูเรเนียมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การประชุมยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการจัดทำแนวทางการกำกับดูแลในระดับชาติและภูมิภาค ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ด้านการจัดการวัสดุกัมมันตรังสีและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อชุมชน


#สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) #การจัดการวัสดุกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ