“ศุภมาส” เปิดตัว “แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์”ใช้ AI เป็นตัวช่วยคัดกรองและวินิจฉัยโรคได้รวดเร็ว

ชวนรพ.ทั่วประเทศ แชร์-เชื่อม-ใช้ ภาพทางการแพทย์ 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคสำคัญ ทั้งโรคทรวงอก มะเร็งเต้านม โรคตา โรคในช่องท้อง โรคผิวหนัง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคกระดูกพรุน
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงวิชาการ Medical AI Consortium: ร่วมแชร์ เชื่อม ใช้ “ข้อมูล” ขับเคลื่อน AI เพื่อการแพทย์ไทย และเป็นสักขีพยานในการประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล(รพ.)รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย Medical AI Consortium ภายในงานมีการเปิดตัว “แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform)” อย่างเป็นทางการ ที่มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศข้อมูลที่เข้มแข็งรองรับการพัฒนานวัตกรรม AI ทางการแพทย์เพื่อคนไทย โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ผศ.(พิเศษ) นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และบุคลากรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ที่โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ ลุมพินี กทม.

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่านนโยบาย “อว. for Al” ซึ่งมุ่งสร้างระบบนิเวศ AI ที่ครบวงจร โดยการแพทย์เป็นเป้าหมายสำคัญที่ AI จะช่วยเพิ่มความแม่นยำ รวดเร็ว และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ การสนับสนุนการจัดตั้ง Medical Al Consortium ผ่านทุนวิจัยจากบพค.เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform)
ถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของประเทศ แพลตฟอร์มนี้ไม่ได้เป็นเพียงคลังข้อมูลแต่ยังประกอบด้วยเครื่องมือที่พัฒนาโดย สวทช. ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยและแพทย์สามารพัฒนานวัตกรรม AI ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นภารกิจสำคัญในการสร้างรากฐาน AI การแพทย์ที่มั่นคงของประเทศ จึงขอเชิญชวนรพ.และโรงเรียนแพทย์ร่วมแบ่งปันข้อมูลและระบุโจทย์ที่สำคัญและนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาโมเดล AI ที่ใช้ได้จริง เพื่อร่วมกันยกระดับสาธารณสุขไทยให้ก้าวทันโลกและใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มศักยภาพ
“ในฐานะที่กระทรวง อว. ดูแลทั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงเรียนแพทย์ และสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วประเทศ จึงอยากขอเชิญชวนโรงเรียนแพทย์เข้าร่วมแบ่งปันข้อมูลที่จำเป็นและร่วมกันระบุโจทย์ความต้องการเพื่อวางรากฐานให้การพัฒนา AI ทางการแพทย์เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนคณะและสาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาโมเดล AI ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงเพื่อสร้างระบบนิเวศ AI การแพทย์ที่ครบวงจร ซึ่งดิฉันเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่จะยกระดับระบบสาธารณสุขไทยให้ก้าวทันโลก ยกระดับขีดความสามารถของประเทศในการใช้ประโยชน์จาก AI อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนต่อไป” รมว.อว. กล่าว

ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวว่า แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ พัฒนาโดยเนคเทค สวทช. ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่สนับสนุนกระบวนการพัฒนา AI ทางการแพทย์ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพครบวงจร และปลอดภัยตามมาตรฐานคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ภายใต้การดูแลของกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุม 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.) ส่วนบริหารจัดการข้อมูล (Data Management) รองรับการรวบรวม จัดเก็บ จัดทำรายการข้อมูลภาพทางการแพทย์อย่างปลอดภัยและเป็นระบบ มีการกำกับดูแลสิทธิ์การเข้าถึงตามหลักธรรมาภิบาล ข้อมูล

นอกจากนี้ นักวิจัยเนคเทค สวทช. ยังพัฒนา RadiiView ซอฟต์แวร์และคลาวด์แอปพลิเคชันสำหรับการกำกับข้อมูลภาพทางการแพทย์ (Annotation) ที่มีเครื่องมือช่วยให้แพทย์ระบุลักษณะสำคัญบนภาพได้อย่างแม่นยำ เพื่อสร้างชุดข้อมูล 2.) ส่วนพัฒนาและฝึกสอน AI (Al Modeling) ผ่านแพลตฟอร์ม NomadML ที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถ พัฒนาโมเดลได้โดย ไม่ต้องเขียนโค้ดโปรแกรมที่ซับซ้อน เพียงนำชุดข้อมูลที่กำกับแล้วจาก RadiiView มาใช้บนแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเชื่อมต่อกับทรัพยากรประมวลผลสมรรถนะสูงอย่าง LANTA Supercomputer ของ สวทช. เพื่อเร่งกระบวนการพัฒนาโมเดล 3.) ส่วนบริการ AI (Al Service Deployment) มุ่งเน้นการนำโมเดล Al ที่ผ่านการพัฒนาและตรวจสอบประสิทธิภาพแล้ว ไปสู่การใช้งานจริงในระบบบริการสุขภาพ โดยอาจให้บริการผ่าน National AI Service Platform เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง

ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวต่อว่า แพลตฟอร์มดังกล่าว ได้รวบรวมภาพทางการแพทย์แล้วกว่า 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคทรวงอก มะเร็งเต้านม (ภาพแมมโมแกรม) โรคตา (ภาพจอประสาทตา) โรคในช่องท้อง (ภาพอัลตราซาวด์) โรคผิวหนัง โรคหลอดเลือดสมอง (ภาพ CT/MRI) และโรคกระดูกพรุน (ภาพ BMD/VFA) พร้อมทั้งพัฒนาโมเดล AI ต้นแบบแล้ว 2 บริการ ซึ่งมีศักยภาพในการช่วยแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย และขยายโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพ
ปัจจุบัน Medical AI Consortium มีสมาชิกเข้าร่วมขับเคลื่อนรวม 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช อย่างไรก็ดี สวทช. และพันธมิตรเชื่อมั่นว่าความร่วมมือและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลกลางทางการแพทย์นี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งสร้างนวัตกรรม AI ทางการแพทย์ที่ใช้งานได้จริงในวงกว้าง จึงขอเชิญชวนหน่วยงานทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา นักวิจัย และภาคเอกชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้ เพื่อขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทยให้ก้าวหน้าต่อไป
#แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform)#นโยบาย “อว. for Al”#Medical Al Consortium