ด่วน..สนง.ปรมาณู ย้ำสถานการณ์ในไทยปกติ ปลอดภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมเฝ้าระวังใกล้ชิด หลังข่าวการโจมตีระหว่างสหรัฐอเมริกา-อิหร่าน

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากกรณีสื่อมวลชนต่างประเทศรายงานสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน รวมถึงประเด็นการโจมตีที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์นั้น ปส. ขอแจ้งว่าขณะนี้ ยังไม่พบความเสียหายหรือความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และในวันเดียวกันนี้ นายราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้รับการแจ้งยืนยันจากหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสีของอิหร่านว่า ไม่มีการเพิ่มขึ้นของระดับกัมมันตภาพรังสีนอกสถานที่หลังจากการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านสามแห่งเมื่อเร็วๆ นี้ รวมทั้งโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมฟอร์โดว์

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า ปส.ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ และยังมีระบบเฝ้าระวังภัยทางนิวเคลียร์และรังสีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับเครือข่ายการเฝ้าระวังระดับโลก ได้แก่ ระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศ (International Monitoring System; IMS) และเครือข่ายสถานีตรวจวัดของ ปส. ทั่วประเทศ รวมถึงศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ (National Data Center; NDC) ที่สามารถประมวลผลและตอบสนองได้อย่างรวดเร็วในกรณีเกิดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี

นอกจากนี้ เพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ปส. จะดำเนินงานเฝ้าระวังผ่าน 2 สถานีหลักภายใต้ IMS ได้แก่
1. สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี RN65 ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
2. สถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือนของพิภพ PS41 ที่จ.เชียงใหม่ ภายใต้การดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
พร้อมกันนั้น ปส. ยังมี สถานีเฝ้าระวังรังสีอีก 22 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในอากาศและในน้ำทะเล ซึ่งทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังภัยทางนิวเคลียร์และรังสีที่มีประสิทธิภาพ และปส.ยังคงติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และจะรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความสบายใจให้แก่ประชาชนไทยต่อไป
#สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ#โครงการนิวเคลียร์
#ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)