เมื่อ : 04 เม.ย. 2568


เมื่อวันที่ 3 เม.ย. น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เป็นประธานในพิธี “รดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ
ทางวัฒนธรรม ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม และผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๘ โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารวธ.  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม คณะศิลปินแห่งชาติ และ คณะผู้บริหาร และบุคลากรสังกัดวธ. เข้าร่วมพิธี ที่อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

 

บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น มีศิลปินแห่งชาติเข้าร่วม อาทิ นางสุกัญญา ชลศึกษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๓๑ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พุทธศักราช ๒๕๓๖ นางฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พุทธศักราช ๒๕๓๖ รศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) พุทธศักราช ๒๕๓๗ นายสมเศียร พานทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง - นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) พุทธศักราช ๒๕๓๘ นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน - เพลงฉ่อย) พุทธศักราช ๒๕๖๖ นางพิศมัย วิไลศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ - นักแสดง) พุทธศักราช ๒๕๕๓ และนายนพพล โกมารชุน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) พุทธศักราช ๒๕๖๔ เป็นต้น

น.ส.สุดาวรรณ กล่าวว่า การกิจกรรม “รดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่น
ทางวัฒนธรรม และผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๘ ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความเคารพและเชิดชูเกียรติบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการสืบสาน สร้างสรรค์ และเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ซึ่งในปีนี้เป็นวาระพิเศษของศิลปินแห่งชาติทุกท่าน เนื่องในวาระครบรอบ ๔๐ ปี
(๔ ทศวรรษ) ของการสรรหาและยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ (ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ - ๒๕๖๘) โดยวธ.ได้จัดให้มีกิจกรรมพิเศษสำหรับศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ
เป็นเวลากว่า ๓๐ ปี รับน้ำให้พรแก่ศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในปีถัด ๆ มา พร้อมร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ (๑) การชมนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ และนิทรรศการผลการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม 


(๒) การรับชมการแสดงทางวัฒนธรรม (๓) การกล่าวแสดงมุทิตาจิตต่อศิลปินแห่งชาติฯ โดยรัฐมนตรีว่าการวธ. และผู้แทนคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม (๔) การกล่าวอวยพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ โดย นางสุกัญญา ชลศึกษ์ นามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พุทธศักราช ๒๕๓๑ ผู้แทนศิลปินแห่งชาติ และ (๕) การสรงน้ำพระ วางพวงมาลัยหน้าพระพุทธรูป และรดน้ำขอพรและมอบพวงมาลัยให้แก่ศิลปินแห่งชาติ
 

รัฐมนตรีว่าการวธ. กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมการจัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๘ ของวธ. ภายใต้แนวคิด ”สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก” (Once in a Lifetime: Experience Songkran in Thailand) ปีนี้ มุ่งเน้นการจัดงานภายใต้กรอบแนวทาง ๔ มิติ ๑๗ มาตรการรณรงค์ ได้แก่ มิติด้านวัฒนธรรม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีสงกรานต์ โดยเน้นเรื่องคุณค่าสาระที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม คำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นที่มีภูมิหลังของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ

รวมถึงการร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีการเปิดเวทีประชุมวิชาการ “สงกรานต์ศึกษา” ภายใต้หัวข้อ “สงกรานต์กับชีวิตไทย: ความเป็นไปในความเปลี่ยนแปลง” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และศิลปินแห่งชาติ ร่วมถ่ายทอดมุมมองลึกซึ้งในหลากหลายมิติ ทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดัน “สงกรานต์ไทย” สู่เวทีโลก และกำหนดจัดงานในพื้นที่ ๑๗ จังหวัด และพื้นที่ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร  


ในส่วนของการจัดงาน ๕ เมืองอัตลักษณ์ ได้แก่
• การจัดงานประเพณี ป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมือง จ.เชียงใหม่ (๑๒ - ๑๖ เม.ย. ) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ ขบวนแห่รอบคูเมืองเชียงใหม่ นิทรรศการสงกรานต์ล้านนา การแสดงศิลปวัฒนธรรม การทำบุญตักบาตรวันสงกรานต์  
• การจัดงานวิถีชีวิตชาวอีสาน ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น (๘ - ๑๕ เม.ย.)กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์อีสานดั้งเดิม งานสืบสานสงกรานต์วิถีไทยบ้าน รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เทศกาลดอกคูนเสียงแคน การแสดง แสงสีเสียง การเล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์
• การจัดงาน ชลบุรี อัตลักษณ์วิถีชีวิต Pattaya Old Town (๑๗ - ๑๙ เม.ย. )กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ รำวงย้อนยุค การละเล่นพื้นบ้าน การสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์โบราณ ประติมากรรมเจดีย์ทรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


• การจัดงาน จ.สมุทรปราการ อัตลักษณ์วิถีชีวิตชุมชนมอญ (๑๒ - ๑๓ และ ๒๕ - ๒๗ เม.ย. ) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ สาธิตการทำธงตะขาบ การละเล่นพื้นบ้าน (สะบ้ารามัญ) ขบวนรถบุปผชาติ วิถีชีวิตชุมชนมอญ
• การจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร หนึ่งเดียวในไทย จ.นครศรีธรรมราช (๑๑ - ๑๕ เม.ย. ) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ สรงน้ำพระบรมธาตุ ประเพณีแห่นางดาน และพิธีโล้ชิงช้า หนึ่งเดียวในไทย
พร้อมด้วย ๑๒ เมืองน่าเที่ยว ที่มีความโดดเด่นทางอัตลักษณ์ทั้ง ๔ ภาค ประกอบด้วย
• ภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงราย จ.น่าน และจ.นครสวรรค์
• ภาคกลาง ได้แก่ จ.กาญจนบุรี และจ.ลพบุรี
• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.ถ้านครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.หนองคาย และจ.สุรินทร์
• ภาคใต้ ได้แก่ จ.สงขลา จ. และจ.ภูเก็ต
และในพื้นที่ส่วนกลาง ๕ จุดหมาย

กรุงเทพมหานคร ได้แก่
• สยาม - สามย่าน (เขตปทุมวัน)
• ถนนสีลม (เขตบางรัก)
• ห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ (เขตคันนายาว)
• วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (เขตพระนคร)
• ท้องสนามหลวง

 

มุ่งเน้นบรรยากาศดั้งเดิม คำนึงถึงความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และความเหมาะสม
ตามวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ พร้อมรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนศิลปินแห่งชาติและศิลปินพื้นบ้านในการแสดงทางวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนงานตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง
การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

 

ทั้งนี้ วธ.ได้จัดทำทำเนียบนามศิลปินแห่งชาติและศิลปินพื้นบ้านทุกสาขา เพื่อให้สะดวกสำหรับการจ้างงานและการประสานงาน


น.ส.สุดาวรรณ ยังฝากถึงพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่มีความหมายมากกว่าการเล่นน้ำ แต่เป็นเทศกาลแห่งความรัก ความกตัญญูและความอบอุ่นของครอบครัว ซึ่งควรค่าแก่การส่งต่อไปสู่สายตาชาวโลก ”สงกรานต์ไทยคือมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดให้คนรุ่นหลัง เราต้องการให้สงกรานต์เป็นเทศกาลที่ทุกคนต้องมาเยือน อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต”

 

วธ.ขอเชิญชวนทุกท่านเตรียมตัวให้พร้อมกับสงกรานต์ ๒๕๖๘ ซึ่งจะเป็นเทศกาล
ที่มอบประสบการณ์สุดประทับใจให้แก่ทั้งคนไทยและชาวโลก ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม: www.culture.go.th หรือ Facebook กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

 

#ศิลปินแห่งชาติ#กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)#เทศกาลสงกรานต์

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ