กรมประมงยืนยันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง อธิบดีบัญชาแจงความคืบหน้า 4 ข้อเรียกร้องเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของปลาหมอคางดำ 19 จังหวัด

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวประมง ตลอดจนประชาชน ในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำขึ้น โดยได้ออก 7 มาตรการสำคัญ ดังนี้ 1.การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 2. การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง 3.การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์
4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่กันชน 5. สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ 6.การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และ 7. การฟื้นฟูระบบนิเวศ นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการกำหนดเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการขอใช้เครื่องมือของประมงพื้นบ้าน ตลอดจนระดมสรรพกำลังทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ

ต่อมา ภายใต้การนำของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และการกำกับดูแลของ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ได้มุ่งเน้นการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกร ผ่านโครงการต่าง ๆ ตามวาระแห่งชาติ อาทิ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยการเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกรชาวประมง และประชาชน เพื่อนำปลาหมอคางดำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพ แจกจ่ายให้กับชาวสวนยาง และยังมีการรณรงค์กิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การลงแขกลงคลอง ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อย่างสม่ำเสมอในทุกพื้นที่การแพร่ระบาด จนถึงปัจจุบันสามารถกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศไปแล้วกว่า 35000 ตัน ซึ่งการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และลดความชุกชุมในพื้นที่การแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญ ในห้วงเวลาปัจจุบันจากข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ 19 จังหวัด ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลตั้งกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนหาผู้กระทำผิดกรณีปลาหมอคางดำระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ 2. ขอให้รัฐบาลกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดภายในระยะเวลา 1 ปี และเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว 3.ขอให้รัฐบาลประกาศเขตภัยพิบัติในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำทันที 4. ขอให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเพื่อมาชดเชยเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงมิได้นิ่งนอนใจในความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ชุมนุม ได้มีการดำเนินการไปแล้ว ดังนี้

ข้อเรียกร้องที่ 3. เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา นายอัครา ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากรอบหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำขึ้น โดยให้รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานคณะทำงาน
ผู้อำนวยการสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ประมงจังหวัดในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด หัวหน้าส่วนราชการกรมประมง ที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน ให้มีอำนาจหน้าที่ศึกษาระเบียบการช่วยเหลือเกษตรกร ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 และให้พิจารณาจัดทำกรอบหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยคณะทำงานฯ ได้ดำเนินการร่างกรอบหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาแล้ว และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานฯ เพื่อพิจารณาในสัปดาห์นี้ ก่อนเสนอคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างเร่งด่วนต่อไป


สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมชุนในข้อที่ 1 และ4 นั้น ขณะนี้กระบวนการทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว หากมีผลการตัดสินอย่างเด็ดขาดออกมา กรมประมงพร้อมดำเนินการตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัดต่อไป
#ปลาหมอคางดำ# กรมประมง#คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ