สานพลังฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสาบสงขลา เพิ่มจำนวนสัตว์น้ำเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน

ภารกิจอปท.ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สานพลังร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ จัดเวทีขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายสาธารณะ หวังผนึกกำลังร่วมกับเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำ ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ขณะที่ สสส.หนุนเสริมงานสุขภาวะ จัดให้ชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษ
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ได้มีการจัดเวทีขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายสาธารณะการฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาโดยชุมชนท้องถิ่น โดยอบต.เกาะหมากเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับอบต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พร้อมภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้การสนับสนุน

เวทีขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายสาธารณะการฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาโดยชุมชนท้องถิ่นมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ ให้เกิดการตระหนักในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งงานเวทีดังกล่าวนี้มี ดร.นพ.พิสิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนและหนุนเสริมการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายการฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คน
นายภัคเอื้ออิชณน์ สอนสังข์ นายกอบต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เปิดเผยว่า เวทีขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายสาธารณะที่จัดขึ้นนี้ ต้องการเผยให้เห็นข้อค้นพบที่อบต.เกาะหมาก ดำเนินการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เช่น ทต.เกาะนางคำ ทต.ปากพะยูน อบต.คลองรี อบต.เกาะใหญ่ พร้อมเครือข่าย ซึ่งผลการดำเนินการเหล่านี้ จึงอยากเสนอให้กับภาครัฐและเอกชนได้รับทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการต่อไปในอนาคต

ข้อค้นพบจนนำไปสู่ข้อเสนอมีหลายประการด้วยกัน อาทิ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของกลไกทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล และเครือข่าย การพัฒนาศักยภาพผู้นำ การพัฒนาระบบข้อมูล การจัดทำเขตรักษาและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ การกำหนดกติกาชุมชน การสนับสนุนการจัดทำบ้านปลาด้วยการบรรจุเข้าสู่แผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเพาะพันธุ์และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่ารอบทะเลสาบสงขลา การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการรณรงค์และประชาสัมพันธ์
นายภัคเอื้ออิชณน์ กล่าวด้วยว่า ด้วยเหตุที่ตั้งของต.เกาะหมากอยู่ในเขตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และทั้ง 11 หมู่บ้านที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของอบต.เกาะหมาก ล้วนมีพื้นที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบ ขณะเดียวกันประชาชนต่างใช้ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งหารายได้เลี้ยงครอบครัว ต่อมาเมื่อทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาลดลง ชาวบ้านออกเรือไปจับปลาจับกุ้งได้น้อยมีรายได้เพียง 150-200 บาทต่อการออกเรือหนึ่งครั้ง เมื่อตนเข้ามารับตำแหน่งอบต.เกาะหมากเมื่อปี 2565 จึงได้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาให้มีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจะได้ประกอบอาชีพประมงได้อย่างมั่นคง มีรายได้สม่ำเสมอ

นายกอบต.เกาะหมาก เปิดเผยต่อไปว่า โครงการแรกที่ดำเนินการ คือการสร้างศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ โดยการเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกราม ซึ่งศูนย์เพาะพันธ์แห่งนี้ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวที่บริหารจัดการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการจัดสรรงบประมาณให้ปีละประมาณ 2 ล้านบาท สามารถปล่อยลูกกุ้งที่ผ่านการอนุบาลแล้วลงสู่ทะเลสาบสงขลาเดือนละ 2 ครั้งรวมทั้งหมด 10 ล้านตัวต่อเดือน
“เราเริ่มปล่อยกุ้งครั้งแรกเมื่อเดือนมี.ค. 2566 จนถึงวันนี้ก็เกือบ 2 ปีแล้ว การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็เห็นได้ชัดเจนขึ้น ผมได้รับเสียงสะท้อนจากพี่น้องกลับมา ว่าทุกวันนี้ออกเรือครั้งหนึ่งก็มีรายได้ 500-1000 บาท บางช่วงก็อาจจะได้ถึง 3000-5000 บาท จากเมื่อก่อนนี้ที่จับกุ้งได้ตัวหนึ่ง เหมือนถูกหวยรางวัลใหญ่” นายกอบต.เกาะหมาก กล่าว

ทางด้าน ดร.นิสา กล่าวว่า การจัดเวทีเพื่อเสนอข้อค้นพบและขับเคลื่อนสู่นโยบายสาธารณะของอบต.เกาะหมากในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในหลายๆ เวที หลายภูมิภาคที่แผนสนับสนุนสุขภาวะชุมชนให้การสนับสนุน เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วม และสร้างประเด็นที่น่าสนใจกับสื่อมวลชนระดับชาติ ด้วยหวังว่าสาธารณะจะได้นำข้อค้นพบจากตำบลเกาะหมากและเกาะใหญ่ ไปเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่นๆ
“พื้นที่เกาะหมาก ได้ใช้สถานการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น เศรษฐกิจ อาชีพ สภาพภูมินิเวศ มาเป็นแนวทางในการจัดการปัญหา สร้างแนวทางปฏิบัติ และใช้กลไกเครือข่าย ผลักดันนโยบายจนนำไปสู่ข้อบัญญัติท้องถิ่น” รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าว

ดร.นิสา กล่าวด้วยว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นผ่านหลักการ 3 สร้าง สร้างการเรียนรู้ สร้างการมีความรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลง หนุนเสริมการทำงานของภาคีเครือข่าย ตามยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น (S-II) ด้วยการหนุนเสริมการสร้างกลไกพัฒนาคน ผู้นำ 4 องค์กรหลัก สนับสนุนการพัฒนาและนำใช้ข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหา ตลอดจนผลักดันงานสู่งานประจำและระดับนโยบายบูรณาการงานพื้นฟู ซึ่งอบต.เกาะหมาก เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นด้วยหลักการดังกล่าว
#อบต.เกาะหมาก#อบต.เกาะใหญ่# กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) #วทีขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายสาธารณะการฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาโดยชุมชนท้องถิ่น