เมื่อ : 18 มี.ค. 2568


ช่วงเดือนก.พ.- ส.ค. นับเป็นช่วงที่ผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออกในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และตราด เริ่มออกสู่ท้องตลาด โดยเฉพาะผลไม้เศรษฐกิจ 4 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ซึ่งนับเป็นผลผลิตทางการเกษตรสำคัญที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยอ้างอิงจากข้อมูลการผลิตและประมาณการผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออกของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่คาดการณ์ว่า ปี 2568 จะมีปริมาณผลผลิตไม้ผล 4 ชนิดดังกล่าวรวมถึง 1453862 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 999211 ตัน (เพิ่มขึ้น 454651 ตัน หรือร้อยละ 45.50) ทำให้กล่าวโดยสรุปได้ว่า ในปี 2568 ผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออก ทั้ง 4 ชนิด (ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเป็นสัญญาณบ่งบอกให้เตรียมความพร้อมรับมือกับปริมาณผลไม้เศรษฐกิจภาคตะวันออกจำนวนมหาศาลที่อาจประสบปัญหาล้นตลาดได้

 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) ภายใต้การนำของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกษ. ให้ความสำคัญในเรื่องการยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย 
พร้อมกำหนดให้การส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าเกษตร และส่งเสริมตลาดผู้บริโภคผลไม้ไทยเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาล และของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้วางมาตรการบริหารจัดการผลไม้ของสถาบันเกษตรกรปี 2568 เพื่อเตรียมรับมือกับปริมาณผลผลิตผลไม้ภาคตะวันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ไว้ด้วยกัน จำนวน 3 มาตรการ ประกอบด้วย

1. มาตรการด้านการผลิตและรวบรวม ผ่านโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นการส่งเสริมและให้ความรู้ด้านมาตรฐานเกษตรปลอดภัยแก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น มุ่งส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น/ภูมิปัญญาพื้นถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็น เพื่อให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและกระจายผลผลิต

 

2. มาตรการด้านการเงิน ผ่านการสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี) จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรกู้ยืมไปดำเนินธุรกิจรวบรวมและจำหน่ายผลไม้ โดย ในปี 2568 มีเป้าหมาย จำนวน 37 สหกรณ์ ในพื้นที่ 20 จังหวัด ทั่วประเทศ วงเงินรวม 87 ล้านบาท

3. มาตรการด้านการตลาด ผ่านการส่งเสริมการกระจายผลผลิตคุณภาพผ่านขบวนการสหกรณ์ และส่งเสริมการค้าด้านการตลาดทั้งตลาด Offline และตลาด Online รวมทั้งจัดทำโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้เพื่อยกระดับราคาของสถาบันเกษตรกร ขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจ่ายขาดจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในการให้สถาบันเกษตรจัดซื้อบรรจุภัณฑ์ตะกร้าผลไม้เพื่อใช้ในการรวบรวมและกระจายผลผลิต

 

“มาตรการทั้ง3 ด้านข้างต้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐาน GAP สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร อีกทั้งส่งเสริมการเชื่อมโยงสินค้าเกษตร โดยมีสหกรณ์เป็นกลไกในการขับเคลื่อนส่งเสริมสหกรณ์ให้มีบทบาทในการจัดการผลผลิตและการตลาดแก่สมาชิก รวมถึงส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตของเกษตรกร เพื่อให้สินค้าเกษตรมีตลาดรองรับที่แน่นอนในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้ การรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยหันมาบริโภคผลไม้คุณภาพภาคตะวันออก เพื่อช่วยกระจายสินค้าเกษตรสู่ตลาดภายในประเทศ จึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานรากให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรอย่างมั่นคง” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว


#กรมส่งเสริมสหกรณ์#สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)#มาตรฐาน GAP