เมื่อ : 07 มี.ค. 2568

        
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) กล่าวว่า ตามนโยบายของน.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว. ที่มีนโยบายในการยกระดับและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืนด้วยการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานสินค้าและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสินค้าของเกษตรกรและชุมชน โดยที่กรมวิทย์ บริการ กระทรวง อว. ได้ยกระดับคุณภาพเกลือทะเลไทยให้สามารถส่งออกสู่ตลาดโลก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยบูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งการทำนาเกลือทะเลในประเทศไทยเป็นอาชีพท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน โดยการทำนาเกลือทะเลจะต้องอาศัยภูมิปัญญา ความชำนาญของเกษตรกรและธรรมชาติมาเป็นปัจจัยในการผลิต เกลือทะเลมีไอโอดีนที่ได้จากธรรมชาติเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพ แต่ยังไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากนัก เนื่องจากยังขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของเกลือทะเล ทำให้มีการนำเข้าเกลือทะเลจากต่างประเทศ จนส่งผลกระทบต่อเกลือทะเลไทยที่มีราคาตกต่ำและเกษตรกรไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้  


ดังนั้นกรมวิทย์ฯ บริการ จึงได้ดำเนินการเพิ่มคุณภาพเกลือทะเลโดยมอบหมายให้ศูนย์ห้องปฎิบัติอ้างอิงชีวภาพ สถาบันอ้างอิงห้องปฎิบัติการแห่งชาติ ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร อย่างต่อเนื่องเพื่อดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างเกลือทะเลในแปลงต้นแบบจังหวัดสมุทรสาคร และแปลงต้นแบบจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมวิทย์ฯ บริการ กระทรวง อว. กับกรมส่งเสริมการเกษตร ว่าด้วยการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเกลือทะเล (MOU) ซึ่งมีเป้าหมายในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเกลือทะเลในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน รวมถึงการพัฒนาวิธีทดสอบเกลือทะเลให้เป็นไปตามมาตรฐาน
    

นพ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ทำนาเกลือทะเลให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดภาระเรื่องเงินลงทุนและหนี้สิน สร้างความมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจฐานราก จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเกลือทะเล (MOU) กับกรมส่งเสริมการเกษตร  ในการตรวจสอบคุณภาพเกลือทะเลไทยร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร และได้ดำเนินการให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเกลือทะเลในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน รวมถึงการพัฒนาวิธีทดสอบเกลือทะเลให้เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เกลือทะเลธรรมชาติ มกษ. 8402-2562 


ที่ผ่านมา ได้มีการทดสอบคุณภาพ ความปลอดภัย และปริมาณสารปนเปื้อนได้แก่ ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม ปรอท และทองแดง ในเกลือทะเลจากแปลงต้นแบบ ในพื้นที่ 7 จังหวัด คือ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และปัตตานี พบว่าเกลือทะเลมีคุณภาพและความปลอดภัยของปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนัก ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ. 8402-2562) ปัจจุบันสินค้าเกลือทะเลไทยมีการยกระดับการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ เกษตรกรสามารถจำหน่ายเกลือทะเลที่มีคุณภาพสูง ทดแทนการนำเข้าและมีการขยายการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 1082 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีถือเป็นเพิ่มรายได้ให้กับประเทศและประชาชน เป็น “การนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน” ตามเป้าหมายกรมวิทย์ฯบริการ กระทรวง อว.  เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป


#กรมวิทยาศาสตร์บริการ #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)#เกลือทะเล#

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ