เมื่อ : 06 มี.ค. 2568

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานปิดโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพ ผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. HigherEd for PWD ระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 5มี.ค. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) บางมด กรุงเทพฯ ว่า พม. ร่วมกับ มจธ. และมหาวิทยาลัยเครือข่าย 5 แห่ง ในโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพฯ ซึ่งเป็นโครงการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการสู่การประกอบอาชีพในตลาดแรงงานจริง ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ


นายวราวุธ กล่าวว่า เชื่อว่าวันนี้สังคมหลายๆภาคส่วนคงได้เห็นกันมากขึ้นว่าพี่น้องคนพิการของไทยนั้นไม่ได้ด้อยเรื่องศักยภาพ ไม่ด้อยในเรื่องต่างๆเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ตลาดแรงงานของไทยหดตัวลงเรื่อยๆ เด็กเกิดใหม่น้อยลง คนสูงอายุก็มากขึ้น  ตนเองให้ความสำคัญของโครงการนี้มากเพราะ ไม่ใช่แค่มาทำงานให้คนพิการ  แต่เป็นภาพที่ใหญ่กว่านั้น   คือกำลังสร้างผลิตภาพหรือ productivity ให้กับสังคมไทย


“ผมดีใจที่ได้ยินว่าโครงการนี้ทำให้ผู้เข้าอบรมมีงานทำ บางคนได้เงินเดือนๆละหมื่นกว่าบาท ถือว่าเป็นโครงการที่ทำให้ผู้พิการมีรายได้อย่างยั่งยืนเพราะเท่ากับให้เบ็ดกับคนกลุ่มนี้ ดีกว่าให้ปลา ซึ่งระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้ว เฟส 2 กำลังจะเริ่ม ขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่ได้มาร่วมในรถไฟขบวนนี้และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกคนจะทำให้คาราวานของประเทศไทยที่เปรียบเหมือนรถเผอร์รารี่ ที่ ใส่เครื่องยนต์ V12 เข้าไป มาช่วยเฟอรารี่ให้วิ่งเร็วขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็กเล็กไม่เป็นภาระของสังคมไทย”นายวราวุธ กล่าว

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า โครงการ HigherEd for PWD  เป็นการนำประสบการณ์และรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพคนพิการของ “โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ.” ที่ มจธ. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 มาขยายผลผ่าน 5 มหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและฝึกงานที่ออกแบบมาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน (Demand-Driven) ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง 


“จากเดิมที่ มจธ. ดำเนินโครงการฝึกอาชีพให้คนพิการได้เฉลี่ยรุ่นละ 50 คน แต่เมื่อเริ่มโครงการ HigherEd for PWD ในปีแรก สามารถขยายการอบรมให้คนพิการจากทั่วประเทศได้ถึง 300 คน นอกจากช่วยเพิ่มโอกาสให้กับคนพิการมากขึ้นแล้ว โครงการนี้ยังทำให้สถาบันและบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจ โมเดล 6 ขั้นตอน ของการฝึกอาชีพคนพิการ ซึ่ง มจธ. ใช้เวลากว่า 10 ปีในการพัฒนา และสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัยและความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่”

ด้าน ดร.อรกัญญาณี เลี้ยงอิสสระ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มจธ. หัวหน้าโครงการฯ โมเดลหลัก 6 ขั้นตอน ที่ มจธ. ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการฯ ได้มีการสนับสนุนมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่ง เพื่อจัดทำและฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนพิการในพื้นที่ของตนเอง ประกอบด้วย (1) การหารือกับสถานประกอบการเพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและเหมาะสมกับคนพิการ (2) การรับสมัครและคัดเลือกคนพิการตามคุณสมบัติของแต่ละหลักสูตร

(3) การฝึกอบรมและฝึกงานเป็นระยะเวลา 6 เดือน ครอบคลุมทั้งทักษะอาชีพ ทักษะการทำงานและการใช้ชีวิต และสร้างประสบการณ์ทำงานจริง (4) การสนับสนุนการจ้างงานร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน (5) ระบบพี่เลี้ยงเพื่อติดตามและให้คำแนะนำ และ (6) การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ผลกระทบ และประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่งสามารถนำไปปรับใช้กับหลักสูตรของตนเองได้อย่างยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ 

โครงการนี้เปิดโอกาสให้คนพิการได้เลือกเส้นทางอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง ผ่านหลักสูตร 2 แนวทางหลัก ได้แก่ หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานในสถานประกอบการ ในส่วนของหลักสูตรอาชีพอิสระ สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างรายได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น หลักสูตรการทำดอกไม้จันทน์ ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ไม่ได้สอนเพียงการผลิต แต่ยังสอนวิธีจำหน่ายและสร้างรายได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ มจธ. ยังมีบทบาทเป็น ‘พี่เลี้ยง’ คอยสนับสนุนและช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถหางานหรือเริ่มต้นอาชีพของตัวเองได้จริง โดยตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการไม่ได้พิจารณาเพียงจำนวนผู้เข้าอบรม แต่ยังให้ความสำคัญกับรายได้ที่เกิดจากการจ้างงานและการประกอบอาชีพอิสระ ผลลัพธ์จากรุ่นแรกที่มีผู้เข้าร่วม 300 คน พบว่า 84% สามารถประกอบอาชีพได้จริง แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับการจ้างงานในสถานประกอบการตามมาตรา 33 จำนวน 9 คน ทำงานภายใต้เงื่อนไขมาตรา 35 จำนวน 31 คน และอีก 212 คนเลือกประกอบอาชีพอิสระ โดยมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเอง ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงประสิทธิภาพของโครงการที่ช่วยเสริมทักษะและสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนพิการอย่างเป็นรูปธรรม


จากความสำเร็จระยะที่ 1 ส่งผลให้เกิดการทำงานโครงการฯ ในระยะที่ 2 ซึ่งมุ่งขยายผลในระดับประเทศ โดยมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือโครงการนำร่องการสนับสนุนให้สถานศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนพิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ ระยะที่ 2 ระหว่างกระทรวง พม. กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ถือเป็นก้าวสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการอย่างเป็นระบบ รวมถึงการมุ่งสร้างระบบฝึกอบรมที่เข้าถึงง่าย รองรับความต้องการที่หลากหลาย และเปิดโอกาสให้คนพิการได้รับการพัฒนาทักษะอย่างครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทำงาน มีอาชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เข้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการในระยะที่ 2


ดร.อรกัญญาณี กล่าวถึงโครงการระยะที่ 2 ว่าเป็นก้าวสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการอย่างเป็นระบบ สร้างระบบฝึกอบรมที่เข้าถึงง่ายและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้คนพิการได้พัฒนาทักษะ มีงานทำ และมีอาชีพที่มั่นคง ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือระยะสั้น แต่เป็นการวางรากฐานให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความเท่าเทียม และมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สอดคล้องกับแนวทาง ”ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของรัฐมนตรี กระทรวง พม. และหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทย”
 

#กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) #มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  #โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. #มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์#มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี #หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน  #สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #มหาวิทยาลัยขอนแก่น #มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ #มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี
​​​​​​​​​​​​​​​​​ 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ