เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ และ UNIDO ผนึกกำลังสร้างสังคมไทยปลอดภัยจากสาร POPs เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) จัดสัมมนา ”ผนึกกำลังสร้างสังคมไทยปลอดภัยจากสาร POPs” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของสาร POPs (Persistent Organic Pollutants) รวมถึงแนวทางในการบริหารจัดการสารดังกล่าวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน จัดขึ้นภายใต้โครงการ “Application of industry-urban symbiosis and green chemistry for low emission and persistent organic pollutants free industrial development in Thailand” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) งานนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา วิจัย และภาคประชาสังคม ร่วมให้ความรู้ ดร. ผานิต รัตสุข ผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กล่าวเปิดงาน
สาร POPs และผลกระทบสาร POPs เป็นสารเคมีอันตรายที่คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากสลายตัวได้ยาก สามารถแพร่กระจายได้ไกล สามารถสะสมในสิ่งมีชีวิตและส่งต่อตามห่วงโซ่อาหาร หากสะสมในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น รบกวนระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน และเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ สาร POPs ยังสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกหลานได้ รวมถึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยการปนเปื้อนในดิน น้ำ และระบบนิเวศ
ปัจจุบันอนุสัญญาสตอกโฮล์มซึ่งเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสารเคมี มุ่งเน้นเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยการลดและเลิกการผลิตและการใช้ และการปล่อยสาร POPs โดยรายการสารที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายสาร POPs นี้ถูกบรรจุภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มแล้วกว่า 34 รายการ ซึ่งรวมถึงสารหน่วงการติดไฟ (PBDEs HBCD) พลาสติกไซเซอร์ (SCCPs) สารเพิ่มความทนทานต่อ UV (UV-328) และสารปรับสภาพผิว PFOS PFOA

กรณีศึกษา PFAS: ความท้าทายของ ”Forever Chemicals”
PFAS เป็นตัวอย่างของสาร POPs ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น โฟมดับเพลิง เคลือบ Non-stick ผ้ากันน้ำ และบรรจุภัณฑ์อาหาร แม้ว่าจะมีประโยชน์สูง แต่กลับกลายเป็น ”Forever Chemical” ที่แทบไม่สลายตัวและสะสมในดิน น้ำ และสิ่งมีชีวิต ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และปนเปื้อนในอาหาร นอกจากนี้ ปัญหาสารตกค้างในผลิตภัณฑ์อาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ เช่น สินค้าไทยถูกตีกลับจากตลาดส่งออกเนื่องจากพบการปนเปื้อนสารเหล่านี้

แนวทางการจัดการและความร่วมมือระหว่างประเทศ
ดร. ฟูกุยะ อิโนะ (Fukuya IINO) ผู้แทนสำนักงานภูมิภาคองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ประจำประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการสารมลพิษตกค้างยาวนานในประเทศไทย โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน และได้แนะนำแนวทางรับการสนับสนุนผ่านโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ เช่น กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในการดำเนินมาตรการกำจัดสาร POPs โดย UNIDO พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ประเทศไทย และสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาสาร POPs อย่างยั่งยืน

โอกาสและความท้าทายของประเทศไทย
ดร. นุจรินทร์ รามัญกุล ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า หากประเทศไทยสามารถบริหารจัดการสาร POPs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะนำมาซึ่งประโยชน์ในหลายด้าน ได้แก่
1. โอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า – การจัดการสาร POPs ตามมาตรฐานสากลช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า และเปิดโอกาสสู่ตลาดที่มีมาตรฐานสูงขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา
2. การพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว – ลดการใช้สาร POPs กระตุ้นการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุทดแทน การรีไซเคิลที่ปลอดภัย และกระบวนการผลิตที่สะอาดขึ้น
3. ความสามารถในการดึงดูดการลงทุน – แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการจัดการสารเคมีอย่างปลอดภัย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับ ESG (Environmental Social and Governance)
4. สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน – ลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็งและโรคเกี่ยวกับฮอร์โมน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
5. การเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค – หากประเทศไทยสามารถจัดการสาร POPs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค ซึ่งจะส่งเสริมความร่วมมือและโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
การสร้างการรับรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์
งานสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยจากสาร POPs และส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืนต่ นอกจากการสัมมนาแล้ว โครงการยังมีแผนจัดกิจกรรมการประกวดสื่อสร้างสรรค์ในธีม ‘ชีวิตไม่ติด POPs’ (Healthy POPs-Free Living: Creative Contest) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสาร POPs ในผลิตภัณฑ์ที่อยู่รอบตัวเรา โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ในงานก่อสร้างและผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน
กิจกรรมนี้มุ่งเน้นให้กลุ่มคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องตนเองจากสาร POPs และกระตุ้นให้เกิดสำนึกรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยขึ้น การประกวดครั้งนี้ไม่เพียงเป็นเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ แต่ยังช่วยให้ผู้เข้าประกวดได้รับความรู้ ความตระหนักรู้ และแรงบันดาลใจในการมีบทบาทปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนอีกด้วย ซึ่งรายละเอียดของกิจกรรมการประกวดจะเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก SMARTCircular ในช่วงต้นเดือนมี.ค.นี้
#นพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) #ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) #กรมควบคุมมลพิษ