สทน. – สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ร่วมมือวิจัยพัฒนา ยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือ (MoU) กับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สวอ. เพื่อส่งเสริมแลกเปลี่ยนความร่วมมือ ด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์สู่การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากนิวเคลียร์และรังสี เพื่อการพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ การวิจัย การวิเคราะห์ การส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพ และการบริการวิชาการ ด้านอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า โดยมุ่งเน้นให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและการวิจัยเชิงอุตสาหกรรมและเชิงสังคมของประเทศ ผู้ร่วมลงนามประกอบด้วย รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสทน. นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสวอ.

รศ.ดร.ธวัชชัย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมส่งออกที่ทำรายได้สูงสุดให้กับประเทศไทยมานานหลายทศวรรษ ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเกือบ 30000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทานถึง 800000 คนด้วยภูมิปัญญาการปรับปรุงคุณภาพพลอยสีให้มีความสวยงามเพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สทน. และ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ จึงได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ เรื่อง “การดำเนินงานด้านการวิจัย การพัฒนา การวิเคราะห์ การส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพ และการบริการวิชาการ ด้านอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า” เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ และการวิจัยเชิงอุตสาหกรรมและเชิงสังคมของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ และตอบรับแนวทางในการพัฒนาประเทศด้านอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า
สำหรับขอบเขตความร่วมมือ สทน. และสวอ. จะร่วมกันดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการปรับปรุงคุณภาพ อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ ทรัพยากรบุคคล ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ สำหรับการวิจัย การวิเคราะห์ การตรวจสอบ และการทดสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือทางเทคนิคและวิศวกรรม รวมไปถึงการฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา ประชาชนผู้สนใจ และพัฒนาศูนย์เรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

