สวทช. และ กองทัพเรือ โดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ร่วมวิจัยจุลินทรีย์ประสิทธิภาพสูง หนุนนโยบาย Green Navy ด้วยนวัตกรรมสะอาด

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่อาคารราชนาวิกสภา กรุงเทพฯ - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ กองทัพเรือ โดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการกำจัดน้ำทิ้งที่มีน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นปนเปื้อน โดยการค้นหาและพัฒนาจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายน้ำมันและสารประกอบน้ำมันปิโตรเลียม เพื่อใช้กำจัดน้ำเสียจากเรือและพื้นที่ของกองทัพเรือ
รวมถึงสร้างองค์ความรู้ที่มีศักยภาพผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้หน่วยงานในกองทัพเรือนำไปใช้ประโยชน์ สนับสนุนนโยบายกองทัพเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Navy) โดยมี พล.ร.ต.กริช ขันธอุบล เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงาน และนักวิจัยไบโอเทคกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ร่วมในงาน

พล.ร.ต.กริช กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางพัฒนากองทัพเรือของผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้กำหนดให้ “การจัดการสิ่งแวดล้อมกองทัพเรือ (Green Navy) เป็นหนึ่งในแนวทางการบริหารกองทัพเรือเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ. 2560 - 2580 ซึ่งเป็นกรอบแนวทางและทิศทางที่จะพาให้กองทัพเรือเดินหน้า ส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนรูปแบบต่าง ๆ
การจัดการขยะและการลดมลพิษต่าง ๆ มุ่งสู่เป้าหมายการจัดการสิ่งแวดล้อมกองทัพเรือ พ.ศ. 2580 คือเป็นหน่วยงานที่มีการปฏิบัติและบริหารงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” การลงนามความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือโดย กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และ สวทช. ถือเป็นก้าวสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นต้นแบบที่ดีในการดำเนินงานที่ยั่งยืน ผลักดันให้กองทัพเรือเป็นองค์กรที่ดำเนินงานด้านความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานอื่น ๆ ได้นำไปปฏิบัติตาม รวมถึงความร่วมมือครั้งนี้ยังสอดคล้องตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปีงบประมาณ 2568 ในการส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมทางการทหารอีกด้วย


ทั้งนี้ ไบโอเทค สวทช. มีผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจากกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์หลายผลงาน ได้แก่ “Tidy Bio Plus (ไทดี้ ไบโอ พลัส)” ผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์สัญชาติไทยที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดของเสีย จุดเด่นนวัตกรรมนี้คือ เป็นการคัดเลือกจากเชื้อจุลินทรีย์สัญชาติไทยจึงทำให้ผลิตภัณฑ์มีเสถียรภาพ และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง เข้ากันกับสิ่งแวดล้อมในประเทศได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังมี “เอนไซม์ ENZease (เอนอีซ)” เอนไซม์อัจฉริยะสำหรับลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียว “เอนไซม์ Serizyme (เซริไซม์)” เอนไซม์ที่จำเพาะต่อการลอกกาวไหมสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงามที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “Cotton Pro (คอตตอนโปร)” มัลติเอนไซม์ สำหรับกระบวนการผลิตสำลีขาวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ “RETTizyme (เรตติไซม์)” มัลติเอนไซม์ สำหรับกระบวนการแช่หมักเส้นใยจากใบสับปะรด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สามารถนำมาต่อยอดในแผนงาน Green Navy เพื่อกำจัดคราบน้ำมันและน้ำทิ้งที่มีน้ำมันปนเปื้อน ได้แก่ สารลดแรงตึงผิวชีวภาพจากยีสต์ MEL Biosurfactant และสารซักล้างชีวภาพ MES-Green ที่สังเคราะห์จากน้ำมันพืชและกรดไขมันเหลือใช้ โดยจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ต่อไป ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้
#สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) # ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) #กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ#กองทัพเรือ#บันทึกความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี