เมื่อ : 08 ต.ค. 2567

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้นำทีมนักศึกษาอาชีวศึกษาเข้าฟื้นฟูพื้นที่ ในอ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยมีสถานศึกษาในสำนักงานอาชีวศึกษาจ.เชียงรายเป็นแกนหลัก และสถานศึกษาพื้นที่ใกล้เคียงในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกันจัดกิจกรรม ”อาชีวะ ร่วมด้วยช่วยประชาชน” เพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งกำหนดการช่วยเหลือประชาชนระยะแรก ระหว่างวันที่ 3 - 7 ต.ค.ในพื้นที่อ.แม่สาย 2 จุด คือ วัดผาสุการาม บ้านไม้ลุงขน และชุมชนบ้านเหมืองแดง โดยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้เดินทางไปให้กำลังใจการปฏิบัติงานของนักศึกษาอาชีวะอาสา และเห็นว่าประชาชนยังต้องการได้รับความช่วยเหลือในการฟื้นฟูบ้านเรือนทำความสะอาด พื้นที่สาธารณะ และซ่อมแซมอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือน และอุปกรณ์การเกษตร รถจักรยานยนต์ ฯลฯ จึงได้มอบหมายให้สอศ.ขยายเวลาเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟู ซ่อมสร้าง ต่อไปอีก 15 วัน

ทั้งนี้สอศ.ได้วางแผน และวันนี้ได้ปฏิบัติการฟื้นฟูพื้นที่และให้บริการซ่อมแซมต่อเนื่อง โดยมีการให้บริการใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ : 1.Fix It Center : ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน ให้บริการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์การเกษตร และเครื่องมือต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 2.พื้นที่ฟื้นฟูและช่วยเหลือ : ทีมนักศึกษาและบุคลากรร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร บ้านเรือน และสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 3.ศูนย์ประกอบอาหาร : จัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ประสบภัยและผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งมีการดำเนินงานในแต่ละระยะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 (3-7 ต.ค. ): มีสถานศึกษาเข้าร่วม แบ่งเป็น Fix It Center 12 แห่ง ทีมฟื้นฟูช่วยเหลือฯ 11 แห่ง และทีมประกอบอาหาร 4 แห่ง ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ

 

เลขาธิการกอศ. กล่าวต่อว่า ในส่วนของระยะที่ 2 (8-12 ต.ค. ): ทีม Fix It Center 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิค(วท.)เชียงราย วท. กาญจนาภิเษกเชียงราย วท. สองแคว วิทยาลัยการอาชีพเถิน และวิทยาลัยการอาชีพลอง ทีมฟื้นฟูช่วยเหลือฯ 6 แห่ง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรีวิทยาลัยเกษตรฯ ชัยนาท วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี วิทยาลัยเกษตรฯ ฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเกษตรฯกาญจนบุรี วิทยาลัยการอาชีวศึกษา(วอศ.)ปทุมธานีโดยมีวอศ.แพร่เป็นศูนย์ประกอบอาหาร

ระยะที่ 3 (13-17 ต.ค. ): ทีม Fix It Center 5 แห่ง ได้แก่ วท.พิษณุโลก วท.พิจิตร  วิทยาลัยการอาชีพพิชัย วิทยาลัยการอาชีพนครไทย วิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก ทีมฟื้นฟูช่วยเหลือฯ  6 แห่ง จากวิทยาลัยเกษตรฯแพร่ วิทยาลัยเกษตรฯนครสวรรค์  วิทยาลัยเกษตรฯสุโขทัย วิทยาลัยเกษตรฯกำแพงเพชร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก และวิทยาลัยเกษตรฯเพชรบูรณ์ โดยมีวอศ.ลำปางเป็นศูนย์ประกอบอาหาร


สำหรับระยะที่ 4 (18-22 ต.ค. ) : ทีม Fix It Center 6 แห่ง วท.นครสวรรค์ วท.อุตรดิตถ์ วท.เชียงใหม่วิทยาลัยการอาชีพเถิน วิทยาลัยการอาชีพลอง วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ทีมฟื้นฟูช่วยเหลือฯ 6 แห่ง  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่วิทยาลัยเกษตรฯอุทัยธานี วิทยาลัยเกษตรฯลำพูน วิทยาลัยเกษตรฯพิจิตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี โดยมีวอศ.พี่พิษณุโลกเป็นศูนย์ประกอบอาหาร

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน  มีความห่วงใย ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และเห็นถึงความร่วมมือและความเสียสละของชาวอาชีวศึกษาในการนำความรู้และทักษะวิชาชีพมาช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤต ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยตรงแล้ว ยังเป็นโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริงและเรียนรู้การทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งสำหรับการพัฒนาทักษะวิชาชีพและจิตสาธารณะและยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาสายอาชีพในการพัฒนาและช่วยเหลือชุมชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากสังคมต่อคุณภาพของผู้เรียนและสถาบันการอาชีวศึกษาอีกด้วย