เมื่อ : 02 ก.พ. 2568

นำร่องปล่อยกุ้งก้ามกราม และสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ ลงอ่างแฝด อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ พร้อมเลี้ยงด้วยฟางข้าวอาหารสัตว์น้ำธรรมชาติ หวังเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำชุมชน เพิ่มรายได้ ลดค่าครองชีพ ลดการเผา ลดมลพิษ ตามนโยบายกระทรวงเกษตรฯ

 

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นายบัญชา  สุขแก้ว  อธิบดีกรมประมง ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด “กิจกรรมบริหารจัดการทรัพยากรประมงน้ำจืด การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าครองชีพของประชาชน ปี 2568” ด้วยการปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดเศรษฐกิจ จำนวน 37600 ตัว และพันธุ์กุ้งก้ามกราม จำนวน 40000 ตัว ลงในอ่างแฝด แหล่งน้ำชุมชนขนาด 45 ไร่ หมู่ที่ 8 บ้านใหม่ดอนชัย อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ 

นายบัญชา เปิดเผยว่า กรมประมงขานรับนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรฯเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งนอกจากจะมีการออกประกาศกรมประมง เรื่อง มาตรการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ภาคการเกษตร ด้านการประมง พ.ศ. 2568  ลงวันที่ 21  ม.ค. 2568 โดยมุ่งเน้นการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กลดการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างจริงจัง ไม่สนับสนุนเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่มีประวัติทำการเผาในพื้นที่การเกษตร ให้ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรด้านการประมง รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ทุกโครงการทางด้านการประมงด้วย 

สำหรับพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ภายใต้ “กิจกรรมบริหารจัดการทรัพยากรประมงน้ำจืด การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าครองชีพของประชาชน ปี 2568” ในวันนี้ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการช่วยลดการเผาลดการเกิดมลพิษ ลดฝุ่น PM2.5 เนื่องจากในกิจกรรมดังกล่าวนี้จะใช้ฟางข้าวเป็นอาหารธรรมชาติ จำนวนไม่น้อยกว่า 1000 กิโลกรัม เพื่อเป็นอาหารธรรมชาติสำหรับสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจที่ปล่อยลงในอ่างแฝด จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ ปลาเกล็ดเงิน (ปลาจีน) ปลายี่สกเทศ ปลาตะเพียนขาว ปลาบ้า ปลานิล ปลาบึก จำนวน 37600 ตัว และกุ้งก้ามกรามขนาด 5 เซนติเมตร จำนวน 40000 ตัว รวมทั้งสิ้น 78600 ตัว โดยกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการในแหล่งน้ำปิดของชุมชนอื่น ๆ (ขนาด 10 – 60 ไร่) ทั่วประเทศอีก รวม 1500 แหล่งน้ำ (พื้นที่ประมาณ 47268 ไร่) ใน 70 จังหวัด 

 

รวมทั้งโครงการจะปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ รวมจำนวนทั้งสิ้น 116.4 ล้านตัว (77600 ตัว/แหล่งน้ำ) และจะใช้ฟางข้าวเป็นอาหารธรรมชาติให้กับสัตว์น้ำที่ปล่อยในแหล่งน้ำ ซึ่งทั้งโครงการดังกล่าวจะใช้ฟางข้าวรวมแล้วไม่น้อยกว่า 1500 ตัน ช่วยเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจในแหล่งน้ำชุมชนได้ไม่น้อยกว่า 6000 ตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 450 ล้านบาท (กุ้งก้ามกราม ประมาณ 300 ตัน มูลค่า 165 ล้านบาท  ปลาน้ำจืดเศรษฐกิจ ประมาณ 5700 ตัน มูลค่า 285 ล้านบาท) ที่สำคัญทำให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์ในระยะยาวทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยลดการเผาฟาง ลดปริมาณคาร์บอนได้กว่า 18529 กิโลกรัมคาร์บอน และลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ได้มากกว่า 2750 ตัน

อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า กรมประมง มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการดังกล่าวข้างต้นจะสามารถช่วยแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ได้อย่างจริงจัง และช่วยส่งเสริมเพิ่มรายได้ลดค่าครองชีพให้กับเกษตรกรและประชาชน โดยให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ 

 

ตลอดจนช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในแหล่งน้ำให้คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับชุมชนเป็นการสร้างแหล่งอาหารโปรตีนด้วยการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชนเพื่อชุมชน กลายเป็นแหล่งประกอบอาชีพให้กับเกษตรในพื้นที่ สามารถเพิ่มรายได้ ลดค่าครองชีพ ช่วยให้เกิดความมั่นคงในชีวิต สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งหมายให้ทรัพยากรมีความยั่งยืนควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในกระเป๋ามีตังค์”  

 

ทั้งนี้ เกษตรกรหรือประชาชนผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง โทรศัพท์ 0 2562 0585 หรือสำนักงานประมงในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ

 

# กรมประมง#ฝุ่น PM2.5#ปลาน้ำจืดเศรษฐกิจ 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ