AI ไทยมาแรง! อว. - บพข. ทุ่มงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และงานวิจัย มุ่งยกระดับอุตสาหกรรม “AI - Semiconductor”ของประเทศ

“เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะรวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีศักยภาพในระดับสากล และตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ การเกษตรและอาหาร ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการภาครัฐและยกระดับภาคการศึกษาไทยโดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรม”
นี่คือ...เป้าหมายสำคัญของ “แผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม” หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ด้วยภารกิจหลักของ บพข. คือ สนับสนุนทุนเพื่อทำให้งานวิจัยเกิดมูลค่าและสามารถนำไปใช้งาน เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยและทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. เปิดเผยถึงบทบาทของ บพข. ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากเทคโนโลยี AI ว่า บพข. จะร่วมขับเคลื่อนนโยบาย อว. For AI โดยจะเป็นหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนการจัดทำโครงการด้าน AI for education Tech โดยที่ผ่านมา บพข.โดยแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ และเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้ 1. ดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ
2. การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมูลค่าสูงสมัยใหม่ 3. ในด้านสุขภาพการแพทย์ ได้แก่ AI assistant system in diagnostic (Radiology) Tele-health และ Tele-medicine เป็นต้น 4. ในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ การสร้างธุรกิจบน Metaverse platform AR/VR หรือดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวยุคใหม่ อัลกอริทึม และ Applications เพื่อสนับสนุนธุรกิจบริการ เป็นต้น 5. ในด้านการผลิต เพื่อลดต้นทุน หรือเพิ่ม Productivity และ 6. เพื่อรองรับ Emerging technologies ได้แก่ เทคโนโลยี AI ใน Autonomous vehicle Edge AI และ Cyber security เป็นต้น

“ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 - 2567 บพข.ได้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยด้าน AI ไปแล้ว 98 โครงการ โดยเป็น pure AI จำนวน 7 โครงการ สำหรับในปีงบประมาณ 2568 นี้ ในแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์มจะมุ่งเน้นเทคโนโลยี AI ในเรื่องของ Infrastructure for AI AI for intelligence Manufacturing AI for Digital Health AI for Digital Tech as a Services และ AI for Smart City”

ด้าน ผศ. ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ที่ปรึกษาแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. และประธานคณะทํางานขับเคลื่อนงานวิจัยด้าน Semiconductor และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง กล่าวเสริมว่า แผนงานดิจิทัลฯ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 พร้อมกับการก่อตั้ง บพข. โดยมุ่งเป้าใน 2 เทคโนโลยีหลักคือปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) เทคโนโลยีมาแรงที่มีความสามารถและฉลาดใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้นทุกที และเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่
ทั้งนี้การสนับสนุนกลุ่มเทคโนโลยี AI ในช่วงแรก บพข. เริ่มจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นในการพัฒนา AI โดยในปี 2563 ได้สนับสนุนทุนให้กับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ในการพัฒนา “แพลตฟอร์มข้อมูลเพื่องานด้านปัญญาประดิษฐ์ในสถานการณ์โควิด-19” ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มและสถาปัตยกรรมข้อมูลระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถบูรณาการข้อมูลจากภาคส่วนต่าง ๆ และรองรับงานวิจัยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งโครงการได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “Goliath” ที่เป็นระบบประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลสมรรถนะสูงที่เน้นการใช้งานบน GPU เปิดโอกาสให้นักวิจัย ผู้ประกอบการ นักศึกษา สามารถเข้าถึงและใช้งานชุดข้อมูลต่าง ๆ ได้
“จากจุดเริ่มต้นในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันเริ่มมีการให้ทุนในการต่อยอดโมเดลหรือชุดข้อมูลที่ได้จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมรวมถึงภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายคือ ภาคการผลิตที่ต้องปรับตัวรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ที่มีการใช้เอไอในการช่วยสร้างแบบจำลอง วิเคราะห์และวินิจฉัยโรค และกลุ่มที่พัฒนาเอไอ เพื่อให้บริการในรูปแบบ as-a-Service เช่น สตาร์ทอัพต่าง ๆ”

ขณะที่ในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ได้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการใน Ecosytems ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้เกิดพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาสมาร์ทมิเตอร์ขึ้นใช้เองในประเทศเพื่อลดการนำเข้า นอกจากนี้ในแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม ยังสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการทางด้านดิจิทัลอีกด้วย
สำหรับผลงานวิจัยเด่นที่ได้รับทุนสนับสนุนจากแผนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อย่างเช่น Dronebox แพลตฟอร์มประมวลผลภาพโดรนผ่านระบบคลาวด์ ผลงาน “ผศ.ดร.ดวงเดือน อัศวสุธีกุน” จากบริษัท โดรน เอไอ โซลูชั่นส์ จำกัด โดยมี บริษัท แมพพิเดีย จำกัด เป็นผู้ร่วมทุน โดย Dronebox พัฒนาขึ้น เพื่อให้การประมวลผลภาพจากโดรนเป็นเรื่องง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น สามารถเข้าถึงได้บนระบบคลาวด์ สามารถสร้างภาพถ่ายทางอากาศที่ถูกต้องตามภูมิศาสตร์ สร้างแบบจำลองความสูงดิจิทัล (DEM) เพื่อวิเคราะห์ภูมิประเทศ สร้างแบบจำลองสามมิติของพื้นที่หรือวัตถุที่สนใจ เป็นเครื่องมือสำหรับการวัดระยะทาง พื้นที่ และปริมาตร รองรับการทำงานร่วมกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)
Senovate AI ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาประสิทธิภาพการผลิตโคนม ผลงาน “รศ.น.สพ.ดร.ชัเดช อินทร์ชัยศรี” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีบริษัทเลโนเวท เอไอ จำกัดเป็นหน่วยงานร่วมทุน โดยผลงานดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบและอุปกรณ์เซนเซอร์ติดตามการเคลื่อนไหวของวัว เหมาะสำหรับฟาร์มโคนมในเขตร้อนชื้น มีความแม่นยำสูงในการติดตามพฤติกรรมเพื่อบ่งชี้การติดสัดในโคเพื่อการผสมเทียม และบ่งชี้เมื่อโคมีปัญหาด้านสุขภาพเพื่อการรักษา ช่วยลดความสูญเสียจากปัจจัยทางสุขภาพและโอกาสในการผสมเทียมลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์ ต้นทุนการผสมเทียม
และ ZTRUS แพลตฟอร์มสำหรับระบบงานเอกสารอัจฉริยะ ผลงาน “ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม” จากบริษัทแอ็คโคเมท จำกัด ที่นำเทคโนโลยีด้านการรู้จำตัวอักษรหรือ OCR กับเทคโนโลยีการสกัดข้อความในระดับความเข้าใจภาพเอกสาร เข้ามาช่วยลดปริมาณงานที่คนต้องทำงานซ้ำๆ เป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันยังพัฒนา AI ช่วยในการวิเคราะห์และตัดสินใจข้อมูลตามเกณฑ์เดียวกับที่ผู้ใช้งานใช้ตัดสินใจทำให้สามารถลดปริมาณงานของคนทำงานได้มากกว่าการอ่านเอกสารเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ดีในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม ได้สนับสนุนงบวิจัยและพัฒนา ประมาณ 150-200 ล้านบาทต่อปี รวมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วยราว ๆ 600 ล้านบาท ปีละ 20-25 โครงการ โครงการส่วนใหญ่ 50% จะเป็นด้านเอไอ อีก 30% เป็นด้านเซมิคอนดักเตอร์ และอีก 20% จะเป็นเทคโนโลยี อื่น ๆ เช่น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
สำหรับแผนดำเนินงานปี 2568
ผศ. ดร.วรรณรัช กล่าวว่า บพข. ยังคงมุ่งเน้นใน 2 เทคโนโลยีหลักคือ เอไอ และเซมิคอนดักเตอร์ อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เปลี่ยนมุมให้ออกไปสู่การใช้งานมากขึ้น โดยในส่วนของ AI จะเน้น ในเรื่องของ Infrastructure for AI AI for intelligence Manufacturing AI for Digital Health AI for Digital Tech as a Services และ AI for Smart City
นอกจากนี้ บพข. ยังมีแผนที่จะร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และชวนนักลงทุน มาร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มเอไอที่เป็นอีคอมเมิร์ซ เพื่อช่วยให้ SME พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องมือในการวิเคราะห์ตลาดต่าง ๆ ได้
#บพข. # กระทรวงอว.#AI#ปัญญาประดิษฐ์