เมื่อ : 04 ธ.ค. 2567

หน่วย บพท. ภายใต้กำกับของกระทรวง อว. ต่อยอดหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ปี 2 ตั้งเป้าปั้น 200 นักจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่ สร้างความอยู่ดี-กินดี-มีสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ ตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ปี พ.ศ. 2566-2570 ร่วมเปิดตัวหลักสูตร ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ มีผู้ทรงคุณวุฒิและบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมกว่า 160 คน

ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงทิศทางและนโยบายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แผนด้าน ววน. ของประเทศว่า “ประเทศไทยมีกองทุนวิจัยและนวัตกรรมในการสนับสนุนการพัฒนาฐานทุนการทำงานด้านวิจัย ซึ่งมีโจทย์คือจะทำอย่างไรให้กองทุนหรืองบประมาณที่มีอยู่ ขยายขึ้นและมีคุณค่าต่อสังคม เปรียบทุกท่านเหมือนจิ๊กซอร์ตัวหนึ่งที่อยู่ในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อน ววน. ด้วย ววน. จะขับเคลื่อนได้ต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจและมีประสบการณ์ที่เข้มแข็งในการทำงานวิจัย และงานวิจัยชิ้นไหนที่ประสบความสำเร็จ หรือมีความเข้มแข็งเราควรจะผลักดันให้ไปได้ไกลมากขึ้นโดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ โดยการขยายผลงบประมาณงานวิจัยทั้ง 20000 ล้านบาท ให้เกิดมูลค่าและก้าวข้ามความเป็น Middle Income Trap ไปได้ นั่นคือทุกฝ่ายต้องบูรณาการร่วมกันและขับเคลื่อนงานวิจัย ภายใต้นโยบาย SRI for all ให้เกิดการผลิดอกออกผลอย่างเต็มศักยภาพ”


 

ด้าน ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.)  กล่าวว่า “สำหรับหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นี้เป็นการต่อยอดขยายผลข้อค้นพบจากปีที่ 1 และยกระดับคุณภาพหลักสูตรให้เข้มข้นขึ้น และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีบทบาทความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนแผนบูรณาการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพดียิ่งขึ้น”


 

ดร.กิตติ กล่าวต่อว่า “เป้าประสงค์ของโครงการนี้ คือการสร้าง Key Agent หรือผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญ โดยใช้ชุดข้อมูลความรู้ซึ่งเป็นการติดอาวุธให้มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ที่ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นนโยบายของกระทรวง อว. ภายใต้การนำของรัฐมนตรีศุภมาส

อิศรภักดี ที่ต้องการนำงานวิจัยเข้ามาเพื่อบริการและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกภูมิภาค โดยในปีที่ 2 นี้ เรามุ่งพัฒนานักจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ให้มีความรู้และทักษะร่วม รวมถึงทักษะเฉพาะกลุ่ม ตลอดจนมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนางาน วิจัยของประเทศ ตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์อววน. ปี พ.ศ.2566-2570”

สำหรับการเปิดตัวหลักสูตรในปีที่ 2 ได้มีการถอดชุดประสบการณ์และความสำเร็จจากผู้เข้าร่วมหลักสูตร ABC Academy รุ่นที่ 1 ร่วมเสนอผลสำเร็จจากการบ่มเพาะที่พัฒนาหลักคิด ความเข้าใจและการถอดกระบวนการเชิงหลักการในการจัดการงานวิจัย เกิดองค์ความรู้และเครื่องมือสำหรับการจัดการ เพื่อสร้างการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลง ตลอดจนครอบคลุมถึงความตระหนักรู้ถึงคุณค่าเพื่อชุมชนและพื้นที่


ศ.ดร.เสมอ  ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “สำหรับการรับสมัครผู้เข้าร่วมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (ABC Academy) ปีที่ 2 นั้น มีกลุ่มเป้าหมายด้วยกัน 3 กลุ่ม จำนวนรวมกันกว่า 200 คน ประกอบด้วย กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่จะไปทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนระบบบริหารจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (Policy Driven Group) กลุ่มนักวิจัยที่จะทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่  (Area Driven Group)  และกลุ่มผู้สนใจทั่วไป ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ (Open Access Group)  โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการเอาไว้ 3 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่วิจัยในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพท. พื้นที่เป้าหมายของผู้เข้าร่วมโครงการที่จะพัฒนาไปเป็น Initiative Program  และพื้นที่ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนวิจัยหรือหน่วยบริหารจัดการงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประกาศรับสมัครเพื่อเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 9 - 29 ธ.ค. และจะประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 9 ม.ค. 2568”

“ด้วยความเชื่อมั่นผู้ผ่านการบ่มเพาะหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะเป็นขุมพลังแห่งความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่ และเป็นกลไกสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในพื้นที่ ด้วยทักษะการบริหารจัดการความรู้จากงานวิจัยให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน”

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ