อว.ส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมดนตรี “ไทยใหม่” ยกระดับเพลงพื้นบ้านสู่เวทีดนตรีสากล ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
เมื่อเย็นวันที่ 3 ธ.ค.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดการแสดงดนตรีประจำชาติภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชน “ไทยใหม่” และ “ประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2568” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยน.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว.ได้มอบหมายให้พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว. เป็นประธานในการเปิดงาน มี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. นายสุรพันธ์ ศิลปะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รศ. ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิ สุกรี เจริญสุข และผู้บริหารส่วนจังหวัด ให้การต้อนรับ ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จ.นครราชสีมา
พญ.เพชรดาว กล่าวว่า กระทรวง อว.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาการวิจัยเพื่อวัฒนธรรมดนตรี รวมทั้ง ขอขอบคุณ วช. มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้จัดกิจกรรมโครงการวิจัยดนตรีประจำชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชน “ไทยใหม่” และ “ประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2568” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการประลองวงดนตรีเยาวชนทั้ง6วงในครั้งนี้ ได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งในการบรรเลงร่วมกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เป็นการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันเพื่อสร้างสรรค์ไทยใหม่ ในการนำวงซิมโฟนีออร์เคสตรา มาจัดแสดงผ่านโครงการวิจัยโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ซึ่งได้สร้างสีสันให้กับชุมชนทั่วประเทศมาแล้ว 19 ครั้ง เป็นการนำดนตรีท้องถิ่นไทยในแต่ละภูมิภาค มาบอกเล่าถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในแต่ละพื้นที่ ผ่านการเรียบเรียงเสียงดนตรี บทเพลงอย่างลงตัว ด้วยความไพเราะและงดงาม
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมในงานโครงการวิจัยดนตรีประจำชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชน “ไทยใหม่” และ “ประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2568” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยมีการจัดแสดง วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งในครั้งนี้จัดแสดง ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เพื่อมุ่งยกระดับเพลงพื้นบ้านและเพลงไทยให้เทียบเท่าเพลงคลาสสิกนานาชาติ ผ่านการเรียบเรียงบทเพลงพื้นบ้านโคราชใหม่ รวมถึงการยกย่องศิลปินท้องถิ่น โครงการ “ไทยใหม่” ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนจากวงดนตรี 6 วง ได้ร่วมแสดงกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เพื่อพัฒนาทักษะ สร้างพลังสร้างสรรค์ทางดนตรี และสร้างแรงบันดาลใจในการสืบสานวัฒนธรรมดนตรีของชาติให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
นายสุรพันธ์ ศิลปะสุวรรณ กล่าวว่า จ.นครราชสีมา รู้สึกยินดีและขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่กระทรวง อว. พร้อมด้วย วช. และ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้นำวงดนตรีสากลไทยซิมโฟนีออร์เคสตรามาจัดการแสดง ณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ในวันนี้ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย หรือ ปราสาทพิมาย เป็นปราสาทหินที่ใหญ่ของไทย เป็นโบราณสถานอันทรงคุณค่า มีอายุเก่าแก่นับพันปี เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ เป็นศูนย์รวมความรักความศรัทธา และความภาคภูมิใจของชาวจ.นครราชสีมา ดังปรากฏในคำขวัญของจังหวัดนครราชสีมาว่า ”เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน” กิจกรรมการแสดงดนตรีนี้ นับได้ว่าเป็นโครงการที่ดี น่าชื่นชม โดยมีที่มาจากการทำโครงการวิจัยดนตรีของอาจารย์สุกรี เจริญสุข และทีมงาน ได้นำวงดนตรีสากลมาผสมผสานกับเครื่องดนตรีและศิลปินพื้นบ้าน โดยเฉพาะ ”เพลงโคราช” ซึ่งชาวนครราชสีมาต่างตั้งตารอชมอย่างตื่นเต้น ประกอบกับบรรยากาศสถานที่ภายในโบราณสถานปราสาทหินพิมายที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน จึงนับเป็นความพิเศษและโอกาสอันดีที่หาได้ยากยิ่งที่ครั้งหนึ่งจะได้สัมผัสกับความสุขและความประทับใจไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ วงเยาวชนดนตรีที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 6 วง ซึ่งได้ร่วมแสดงกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ได้แก่
- วง Momentoom
- วง Violimba
- วง พิชชโลห์
- วง Einschlag Ensemble
- วง Pirun Naga Quintet
- วง Tempesta Trio
การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีครั้งนี้เป็นการประลองในรอบชิงชนะเลิศครั้งที่1 และจะมีการประลองรอบตัดสิน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ ในเดือนม.ค. 2568