สวทช. - สวรส. จัดสัมมนาเผยผลศึกษาการใช้นวัตกรรม AI ผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พร้อมด้วย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงผลการศึกษาโครงการประยุกต์และทดสอบประสิทธิผลของระบบดูแลผู้อยู่อาศัย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ การศึกษา ”MTEC Well-living systems” นวัตกรรม AI ผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง พร้อมขยายผลต่อยอดรองรับสังคมสูงวัย โดยมีตัวแทนอาสาสมัครร่วมทดสอบการใช้ในโครงการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใช้งานจริง เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพ
นพ.ศุภกิจ เปิดเผยว่า “สวรส. มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทุกมิติ ทั้งด้านนโยบาย สังคม ชุมชน วิชาการ และเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทยอย่างยั่งยืน โดยในปีงบประมาณ 2566 สวรส. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ในการดำเนินโครงการ ”การประยุกต์ใช้และทดสอบประสิทธิผลของระบบดูแลผู้อยู่อาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยด้วยปัญญาประดิษฐ์” หรือ Well-Living Systems ซึ่งเป็นนวัตกรรม ”ผู้ช่วยของผู้ดูแล” ที่มีจุดเด่นสำคัญคือ สามารถเรียนรู้พฤติกรรมผู้สูงอายุโดยอัตโนมัติ เฝ้าระวังและแจ้งเตือนเมื่อพบพฤติกรรมผิดปกติ โดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวเนื่องจากไม่ใช้กล้อง รวมถึงช่วยเตือนกิจกรรมสำคัญต่อสุขภาพ เช่น การกินยาและการเคลื่อนไหวร่างกาย การพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่ทุกครอบครัวเข้าถึงได้ จะช่วยลดช่องว่างในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง พร้อมสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ใช้เทคโนโลยีการดูแลที่ทันสมัยอย่างทั่วถึง เพื่อนำไปสู่สังคมผู้สูงวัยที่ปลอดภัยและยั่งยืน” นพ.ศุภกิจกล่าว
”สวรส. พร้อมผลักดันการใช้งานระบบ MTEC Well-living systems ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อการดูแลและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สูงอายุและครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม”
ดร.ศราวุธ กล่าวว่า “ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” อย่างเป็นทางการในปี 2565 โดยมีประชากรสูงอายุถึง 13 ล้านคน หรือราว 20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2566 และมีแนวโน้มจะเข้าสู่ ”สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ในปี 2573 ด้วยสัดส่วนประชากรอายุเกิน 65 ปี ถึงร้อยละ 20 ปรากฏการณ์นี้นำมาซึ่งความท้าทายและโอกาสใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งสำคัญ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีดูแลผู้สูงอายุหลากหลาย แต่ยังมีข้อจำกัดด้านการเฝ้าระวังพฤติกรรมผิดปกติแบบต่อเนื่อง การแจ้งเตือนฉุกเฉินอัตโนมัติ และการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล”
ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค สวทช.ได้รับทุนสนับสนุนจากสวรส. ให้ดำเนินโครงการวิจัยหัวข้อ “การประยุกต์ใช้และทดสอบประสิทธิผลของระบบดูแลผู้อยู่อาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยด้วยปัญญาประดิษฐ์ในบริบทการใช้งานจริงของครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง” มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิผลของการใช้เทคโนโลยี “ระบบดูแลผู้อยู่อาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยด้วยปัญญาประดิษฐ์” หรือที่เรียกว่า “MTEC Well-living systems” ในบริบทการใช้งานจริงของครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุที่ต้องใช้เวลาอยู่โดยลำพัง และเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีดังกล่าว ให้มีศักยภาพพร้อมตอบสนองความต้องการและบริบทการใช้งานจริงของครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุที่ต้องใช้เวลาอยู่โดยลำพัง
เอ็มเทค สวทช. ได้ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ร่มเกล้า สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในการประชาสัมพันธ์เพื่อจัดหาอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ และได้ดำเนินการทดสอบประสิทธิผลการทำงานของระบบกับตัวแทนกลุ่มผู้ใช้เป้าหมายในบริบทการใช้งานจริง รวม 34 ครัวเรือน โดยแต่ละครัวเรือนจะมีตัวแทนผู้สูงอายุและผู้ดูแล อย่างน้อย 1 ท่าน โดยคณะวิจัยได้มีการติดตั้งต้นแบบที่ที่พักอาศัย เป็นระยะเวลาต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน มีการติดตามสัมภาษณ์ผลการใช้งาน และทำการปรับปรุงระบบในระหว่างการทดสอบการใช้งานระบบอย่างต่อเนื่อง ผลการทดสอบพบว่า “MTEC Well-living systems” สามารถช่วยลดภาระของผู้ดูแล พร้อมสร้างความอุ่นใจให้แก่ทั้งผู้สูงอายุและครอบครัว
“การพัฒนา MTEC Well-living systems นี้ สอดรับกับแนวโน้ม ’เศรษฐกิจสูงวัย’ หรือ Silver Economy ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุยุคใหม่หรือ Young Old (Yold) ที่ยังคงกระฉับกระเฉง มีกำลังซื้อ และต้องการเทคโนโลยีที่ช่วยให้พึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุข นับเป็นก้าวสำคัญในการรองรับสังคมอายุยืนของไทย ด้วยการผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ากับความเข้าใจในความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงวัยและครอบครัว” ดร.ศราวุธ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นางศิริพร เพ็งเจริญ หรือ ‘คุณยิ้ม’ พยาบาลวิชาชีพชำนาญ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลคลองโยง จ.นครปฐม กล่าวว่า ต้องขอบคุณพี่รัตน์ ภัทรรัตน์ ที่แนะนำเข้าร่วมโครงการดี ๆ ซึ่งการมีอุปกณ์ Well-Living Systems หรือ WLS ของศูนย์เอ็มเทค สวทช. มาใช้ทดสอบการใช้งานในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านที่อยู่โดยลำพัง ซึ่งถือว่าตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ใช้เป็นเรื่องที่ดีในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่บ้านโดยลำพัง เนื่องจากตนเองและคุณพ่อจะอยู่คนละบ้านห่างไกลกัน 50 กิโลเมตร การมีเครื่องอุปกรณ์ WLS ช่วยให้สามารถติดตามและเรียนรู้พฤติกรรม กิจวัตรประจำวันของคุณพ่อได้ดียิ่งขึ้น ทั้งอุปกรณ์การเตือนให้กินยา เซนเซอร์การติดประตูห้องน้ำ และอุปกรณ์ชิ้นอื่น ๆ จะเป็นประโยชน์เพราะมีการเก็บข้อมูลทางสถิติ บันทึกไว้เพื่อให้เราดูข้อมูลได้ว่า ในแต่ละช่วงเวลาคุณพ่อทำอะไร ใช้เวลากับจุดใดบ่อย เช่น เซนเซอร์หน้าประตูห้องน้ำเปิด-ปิด ถี่ไหม ทำให้เราเราสามารถโทรสอบถามคุณพ่อได้ ซึ่งวันนั้นท่านอาจจะมีอาการท้องเสีย ทั้งนี้อุปกรณ์ WLS ทุกชิ้นใช้งานสะดวกและได้ข้อมูลเชิงลึกมากกว่ากล้องวงจรปิดที่ตนเคยใช้ เพราะกล้องวงจรปิด ไม่มีความเป็นส่วนตัวและคุณพ่อจะสื่อสารได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง หรือ อยู่เฉพาะหน้ากล้องวงจรปิด ตามที่เรานัดเวลากับคุณพ่อเท่านั้น
“ตอนที่ยังไม่มีอุปกณ์ WLS. ห่วงคุณพ่อมาก เพราะมีเหตุการณ์เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่คุณพ่อล้มหมดสติในสวนครึ่งวันโดยที่เราไม่รู้ เมื่อโทรศัพท์ไปพูดคุยปกติตามปกติในช่วงค่ำๆ ที่เรานัดเวลากัน เสียงคุณพ่อเหมือนไม่สบาย ก็ถามว่าคุณพ่อไม่สบายหรือเปล่า คุณพ่อก็บอกว่า วันนี้ล้มอยู่ในสวนครึ่งวัน ด้วยความเป็นพยาบาลก็สอบถามว่าแล้วคุณพ่อกลับมาได้อย่างไร คุณพ่อเล่าว่าสุนัขที่บ้าน 4-5 ตัว มาตะกุยที่ตัว คุณพ่อเลยฟื้นและเดินกลับเข้าบ้านมาได้ จึงพาคุณพ่อมาเช็กอาการที่โรงพยาบาล พบว่ามีภาวะแคลเซียมในสมอง หมอให้ยาตามขั้นตอนการรักษา 2 สัปดาห์ และเฝ้าระวังคุณพ่อมาโดยตลอดและช่วงเวลาหลังจากนั้นคุณพ่อล้ม ๆ ลุก ๆ 7-8 รอบ เพราะแขนขาอ่อนแรงจากการหมดสติครั้งนั้น เมื่อมีเครื่อง WLS จะแจ้งเตือนเราทางแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์ จะดูได้ว่า ช่วงเวลานี้มีกิจวัตรประจำวันอะไรบ้าง ที่คุณพ่อทำผิกปกติไปจากเดิม ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิม หรืออยู่ในที่เดิมนานกว่าปกติ ทำให้เราสามารถติดตามอย่างใกล้ชิดได้ และโทรศัพท์สอบถามคุณพ่อทันที เหมือนเป็นอุปกรณ์ช่วยดูแลคุณพ่อแทนเราได้ จึงอยากงานวิจัยนี้ออกมาขายเร็ว ๆ เพราะคิดว่าแต่ละบ้านที่มีผู้สูงอายุจะได้ใช้ประโยชน์หลากหลายในแต่ละอุปกรณ์”
นางศิริพร กล่าวด้วยว่า ข้อดีของอุปกรณ์ WLS นี้ แตกต่างจากกล้องวงจรปิดที่เคยใช้ เพราะกล้องวงจรปิดเมื่อถึงเวลาบันทึกช่วงเวลาหนึ่ง จะลบข้อมูลโดยอัตโนมัติจากด้วยหน่วยความจำกล้องที่จำกัด แต่อุปกรณ์ WLS ข้อมูลจะอยู่ในแอปพลิเคชัน ทำให้สามารถดูย้อนหลังได้ว่าเมื่อวานนี้ หรือหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้สูงอายุในบ้านเราทำกิจกรรมอะไรบ้าง โดยที่เราสามารถเซ็ทค่าข้อมูลพฤติกรรมประจำวันไว้ และให้แอปพลิเคชันเรียนรู้เป็นแบบหนึ่ง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นแบบใด เพื่อให้เราสามารถทำนายได้พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคุณพ่อได้ โดยการใช้งานผ่านแอป ฯ ได้ง่ายเพราะข้อมูลแจ้งเตือนขึ้นมาเหมือนการเตือนคุยไลน์สามารถเรียกดูข้อมูลได้ง่าย มีข้อมูลเปรียบเทียบเกณฑ์ปกติกับเกณฑ์ที่ไม่ปกติให้เห็นและเป็นข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้
ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการวิจัยนี้ เพื่อทดสอบประสิทธิผลของการใช้เทคโนโลยี “MTEC Well-living systems” ในบริบทการใช้งานจริงของครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุที่ต้องใช้เวลาอยู่โดยลำพังและเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยี “MTEC Well-living systems” ให้มีศักยภาพพร้อมตอบสนองความต้องการและบริบทการใช้งานจริงได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
ผู้สนใจทดลองใช้และร่วมเก็บข้อมูลการใช้งานเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการวิจัยพัฒนา หรือผู้สนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาต่อยอดร่วมกัน ติดต่อได้ที่ ดร.สิทธา สุขกสิ อีเมล sitthas@mtec.or.th หรือ well.living.systems@gmail.com