เมื่อ : 22 พ.ย. 2567

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่โรงแรมไอบิส กรุงเทพ ริเวอร์ไซด์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจ เทคโนโลยี (BID) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ดร.วัฒนจักร พุ่มวิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ (ผกอ.) และ ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ผธท.) พร้อมด้วย กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย ขับเคลื่อนโครงการยกระดับขีดความสามารถหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ.2567 ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ ”The Right Way to Mature Incubator” เพื่อพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจให้สามารถรองรับการสร้างผู้ประกอบการใหม่ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พร้อมทั้งเป็นการเสริมความรู้หลากหลายมิติโดยในปีนี้มุ่งเน้นที่ประเด็นแนวทางที่เน้นการลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยใช้แนวคิดแบบ Lean Startup ร่วมกับกระบวนการที่มุ่งเน้นการทดสอบและพัฒนาโมเดลธุรกิจ (Business Model) การเสริมความรู้ด้านการส่งออกให้กับผู้ประกอบการ และการพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคล เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและสร้างความได้เปรียบในยุคดิจิทัล ผนวกรวมเข้ากับการเชื่อมโยงทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ ผลักดันธุรกิจนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ


สำหรับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการยกระดับขีดความสามารถหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ประจำปี พ.ศ.2567 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่

•​หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

•​หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

•​หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

•​ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

•​ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยผู้เชี่ยวชาญขั้นสูงและที่ปรึกษาด้านบ่มเพาะธุรกิจระดับโลก นำหลักเกณฑ์ประเมินจาก PwC ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึก มาประเมินผลการดำเนินงาน พร้อมให้ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ให้แต่ละหน่วยบ่มเพาะภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน

นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ BID กล่าวว่า ผลการประเมินเบื้องต้นและความสำเร็จ หน่วยบ่มเพาะฯ มีการพัฒนาโปรแกรมบ่มเพาะที่หลากหลาย มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น พื้นที่ Co-working Space ห้องปฏิบัติการ และระบบสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์


พร้อมกันนั้น หน่วยบ่มเพาะยังได้รับคำแนะนำในด้านการกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ การพัฒนากระบวนการติดตามผล และการสร้างระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการกับเป้าหมายในระยะยาว

แผนการดำเนินงานในอนาคต สวทช. เตรียมนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ที่รวบรวมข้อค้นพบและข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์แก่หน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ ภายในเดือนธ.ค. เพื่อช่วยวางแผนและปรับปรุงการดำเนินงานในปีต่อไป พร้อมผลักดันความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบ่มเพาะธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทย แสดงถึงความตั้งใจของ สวทช. ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตในเวทีโลก โดยการพัฒนาศักยภาพในระดับองค์กรของหน่วยบ่มเพาะ พร้อมเสริมสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Technology Business Incubator - TBI) มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เติบโตและประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจสนับสนุนการสร้างธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ พร้อมทั้งผลักดันการนำผลงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสิทธิและการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์


นอกจากนี้ยังเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ  เพื่อสนับสนุนบทบาทดังกล่าว คณะทำงานเพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ โดย สวทช. ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ดำเนินการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยศึกษาแนวปฏิบัติและกรณีศึกษาจากประเทศต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ การอบรมเชิงปฏิบัติการ ”The Right Way to Mature Incubator” ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญที่ครอบคลุมการพัฒนาศักยภาพของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในหลากหลายด้าน เริ่มต้นด้วย การนำ Lean Launch Approach มาใช้ในโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจ โดย Mr. Julian Webb และ Ms. Thea Chase ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจาก CREEDA Projects Pty Ltd. ที่มีประสบการณ์กว่า 36 ปี ในการพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในกว่า 50 ประเทศ ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้วิธีการสร้างกระบวนการบ่มเพาะที่มีประสิทธิภาพจากแนวปฏิบัติระดับสากล ต่อด้วยหัวข้อ การประเมินความพร้อมสู่ตลาดส่งออก โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจาก EXIM BANK นำโดย คุณจันทร์ฉาย พิทักษ์อรรณพ และ คุณมูฮำหมัดกัฟดาฟี มะทา ซึ่งเน้นการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมการวิเคราะห์ความพร้อมและโอกาสในการขยายธุรกิจ สุดท้ายคือหัวข้อ การนำ Generative AI และ ChatGPT มาใช้ในธุรกิจ โดย คุณกำพล ลีลาภรณ์ CEO บริษัท PiR Academy และทีมผู้ช่วยวิทยากร ที่มุ่งสอนการใช้งาน AI และ ChatGPT ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจ การจัดการข้อมูล และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อให้หน่วยบ่มเพาะและผู้ประกอบการสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ