เมื่อ : 21 พ.ย. 2567

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ศ.ดร.ศุภชัย  ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานและขับเคลื่อนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยมี นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวง อว. อธิการบดีมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการและบุคลากรอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 44 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมภูมิบดินทร์ ชั้น 6 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) และ ผ่านระบบออนไลน์

ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีบทบาทอย่างยิ่งในการเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้อยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลกผ่านตัวชี้วัดสำคัญ 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ World Compititiveness Ranking Global Innovation Index (GII) และ World University Ranking ทั้งนี้ World Compititiveness Ranking จัดโดย International Institute for Management Development (IMD ซึ่งถือว่ามีความสำคัญในการบอกสถานภาพของประเทศในระบบเศรษฐกิจโลก ในการช่วยให้ภาคนโยบายและธุรกิจสามารถวางแผนเพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หากสามารถเพิ่มตัวชี้วัดทั้ง 3 ตัวชี้วัดที่กล่าวมาได้ จะส่งผลให้ประเทศสามารถยกระดับปัจจัยที่ส่งผลต่อขีดความสามารถของประเทศไทย มีส่วนช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและสถาบันการศึกษาสามารถประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และมองเห็นโอกาสในการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการพัฒนานโยบายและแผนกลยุทธ์ที่จะยกระดับศักยภาพทางการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกในยุคปัจจุบัน


“การผลิตคนแรงงานทักษะสูง ทั้ง Specific Skill และ Soft Skill เป็นหัวใจของทุกอย่างที่มีในปัจจุบัน เป็นหน้าที่ของ กระทรวง อว. มหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องร่วมกันผลิตคนให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนาคนและประเทศได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์โลกที่แปรผันตลอดเวลา ได้อย่างยั่งยืนสืบไป” ปลัดกระทรวง อว. กล่าวและว่า


ดังนั้น ตนจึงอยากเห็นพัฒนาการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เติบโตพัฒนาขึ้นเป็นกลไกสำคัญของประเทศที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการวิจัยพัฒนา ตลอดจนบ่มเพาะผู้ประกอบการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สู่ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ส่งเสริมการนำผลการวิจัยและพัฒนาเข้าสู่ระบบการคุ้มครองและการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. ที่สำคัญของประเทศชาติ


ด้าน นายเอกพงศ์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้ประโยชน์ในเขตนวัตกรรม มากกว่า 250 ราย เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ของผู้ประกอบการที่เสนอขายในตลาดกว่า 50 รายการ เกิดการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐาน มากกว่า 10000 ครั้ง มีการจัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในอาคารอำนวยการอุทยานฯ มากกว่า 9500 กิจกรรม โดยมีผู้ใช้ประโยชน์ในอาคารอำนวยการอุทยานฯ มากกว่า 234000 ราย ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานของผู้ประกอบการ มากกว่า 1500 ราย โดยเป็นการจ้างงานบุคลากรด้าน R&D มากกว่า 1000 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ มากกว่า 3900 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการลงทุนวิจัยของบริษัทที่มาใช้ประโยชน์ มากกว่า 490 ล้านบาท คิดเป็นความคุ้มค่าในการลงทุน หรือ ROI (Return on Investment) ร้อยละ 1425 หรือประมาณ 14.25

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ