ซินโครตรอนร่วมพัฒนาใช้ยารักษามะเร็งเพื่อต้านมาลาเรีย
นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับนักวิจัยจากหลายหน่วยงานค้นพบการออกฤทธิ์ยาต้านเชื้อมาลาเรียจากฐานข้อมูลยาต้านมะเร็ง โดยใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนย่านอินฟราเรดตรวจวิเคราะห์ พบว่าตัวยาต้านมะเร็งดังกล่าวสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อมาลาเรียได้จริง สามารถพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรียได้
ดร.บัวบาล กัวประเสริฐ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “เชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียมที่อยู่ในยุงก้นปล่องคือตัวการของโรคมาลาเรีย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจหาการติดเชื้อมาลาเรีย หรือทดสอบประสิทธิภาพยารักษามาลาเรียได้จากการตรวจหาผลึกฮีโมโซอิน ที่เชื้อโปรโตซัวสร้างขึ้นเพื่อให้อยู่รอดในเม็ดเลือดแดงได้ แต่กระบวนการตรวจสอบที่ผ่านมามีความยุ่งยากและซับซ้อน จึงมีการพัฒนากระบวนการตรวจด้วยแสงซินโครตรอน ที่สามารถตรวจได้รวดเร็วและแม่นยำ อีกทั้งสามารถตรวจพบการติดเชื้อได้แม้มีตกผลึกเพียงผลึกเดียว โดยวัดการดูดกลืนแสงย่านอินฟราเรดของผลึกฮีโมโซอินในช่วงความยาวคลื่น 1210 - 1220 cm-1”
ทั้งนี้ ดร.บัวบาล ได้ร่วมกับนักวิจัยจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า สถาบันวิทยสิริเมธี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิจัยค้นพบยาจากฐานข้อมูลยาต้านมะเร็งรหัส NSC45545 NSC45570 และ NSC45607 สามารถต้านการเจริญของเชื้อพลาสโมเดียมได้ใกล้เคียงกับยาคลอโรควินซึ่งเป็นยารักษามาลาเรียในปัจจุบัน
“เมื่อนำตัวอย่างเม็ดเลือดแดงที่มีการติดเชื้อพลาสโมเดียมในระยะวงแหวนที่ถูกทรีตด้วยยา NSC45545 กับตัวอย่างที่ถูกทรีตด้วยยาคลอโรควิน มาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคแสงซินโครตรอนในย่านอินฟราเรดจากห้องปฏิบัติการแสงสยาม ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ไม่พบการดูดกลืนแสงอินฟราเรดในช่วงความยาวคลื่น 1210 - 1220 cm-1 ซึ่งต่างจากเม็ดเลือดแดงติดเชื้อที่ไม่ได้ทรีตด้วยยา กลับมีการดูดกลืนคลื่นแสงในช่วงความยาวคลื่นดังกล่าวอย่างชัดเจน จึงยืนยันได้ว่ายา NSC45545 สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อมาลาเรียได้จริง ผลงานวิจัยนี้สามารถนำยารักษามะเร็งไปพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรียที่สามารถยับยั้งการสร้างสารฮีโมโซอินของเชื้อมาลาเรียต่อไปได้” ดร.บัวบาล กล่าว