“ไปรษณีย์ไทย” ทำรายได้ 9 เดือนแรก 1.58 หมื่นล้าน “พอร์ตธุรกิจขนส่ง – โลจิสติกส์” โตสูงสุด “EMS” ยังครองใจลูกค้าโตต่อเนื่อง 8%
กรุงเทพฯ 19 พฤศจิกายน 2567 - บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดรายได้ 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ปี 2567 มีรายได้รวม 15858.67 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูงสุดคือกลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ พร้อมเผยปริมาณงานธุรกิจขนส่งในประเทศปี 2567 มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ที่เติบโตราว 8.07% จากความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ บริการรองรับความต้องการที่หลากหลาย ความรวดเร็วในการขนส่ง และมุ่งกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกแสวงหารายได้จาก “Digital & Physical Services” เพื่อเพิ่มปริมาณงานและรายได้จากกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2567 (ม.ค.- ก.ย.) ไปรษณีย์ไทยทำรายได้รวม 15858.67 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุดมาจาก กลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ 46.48% ซึ่งเติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ราว 3.34% สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ “ปริมาณงานธุรกิจขนส่งในประเทศ 2567 เปรียบเทียบกับ 2566 มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นผลจากเสถียรภาพและความเชื่อมั่นของภาพรวมงานบริการ- โซลูชันที่ไปรษณีย์ไทยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความมุ่งมั่นในการสร้างประสบการณ์ของของลูกค้าทุกกลุ่ม ซึ่งปรากฏว่าบริการพัสดุไปรษณีย์ในประเทศเติบโตที่ 18.45% ขณะที่บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) เติบโตราว 8.07% สะท้อนถึงการได้รับความเชื่อมั่นจากคนไทย ยืนยันด้วยผลสำรวจความเชื่อมั่นในแบรนด์ไปรษณีย์ไทย 2567 สูงถึง 91.87%”
ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2568 ไปรษณีย์ไทยยังมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทั้ง Physical และ Digital และระบบงานไปรษณีย์ร่วมกับพันธมิตรสร้างประโยชน์ในหลากมิติ ส่งผลให้มีบริการขนส่งที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศอย่างครบวงจร บริการทางการเงิน การส่งเสริมค้าปลีก การพัฒนาและสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับ ทุกความต้องการของลูกค้า โดยมี 4 กลยุทธ์สำคัญ คือ
เพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่าง ไปรษณีย์ไทยจะขยายขอบเขตบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริการระหว่างประเทศ เช่น พัฒนาระบบงานคลังสินค้าครบวงจร บริการ document warehouse พัฒนาการขนส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon FBA พัฒนาการขนส่งสินค้าแบบ Virtual Address ปรับธุรกิจบริการดิจิทัล รองรับการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและสังคม สนับสนุนส่งเสริมธุรกิจอื่น ๆ ของไทยให้เติบโตตามแนวทาง Connecting- the -dots นำสิ่งที่ทุกคนต้องการเชื่อมโยงได้ด้วยทรัพยากรที่โดดเด่นของไปรษณีย์ไทย เช่น Prompt POST ระบบจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ที่มีจุดเด่นทั้ง Digital Postbox ตัวกลางในการรับส่งเอกสารหรือข้อมูลออนไลน์ระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน และหน่วยงานกับประชาชน ปลอดภัยจากสแปม และจดหมายทุกฉบับสามารถมั่นใจได้ว่ามาจากบุคคลและองค์กรตัวจริง จากการรองรับการยืนยันตัวตน ในระบบที่เชื่อถือได้ D/ID ซึ่งเป็น Post ID ส่วนบุคคลที่จะมีการเริ่มใช้จริงต้นปี 2568 ด้วยระบบ QR CODE ที่จะเป็นทางเลือกการจ่าหน้า ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่งสิ่งของ ล้ำกว่าระบบพิกัดตำแหน่งทั่วไปด้วยการบอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูงได้และเมื่อผู้ใช้งานมีการแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในระบบ D/ID ข้อมูลที่อยู่ซึ่งเดิมไว้ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังหน่วยงานปลายทางโดยอัตโนมัติ Postman Cloud ที่ใช้บุรุษไปรษณีย์กว่า 25000 คนทั่วประเทศในการให้บริการ Postman as a Service เช่น การเก็บข้อมูล รับส่งสิ่งของแบบ Point to Point และ Matching เชื่อมโยง Demand กับ Supply พัฒนาแพลตฟอร์ม e-marketplace โครงการ Virtual bank ให้บริการสินเชื่อกับประชาชน สามารถทำธุรกรรมฝากถอนเงินได้ที่สาขาของไปรษณีย์ทั่วประเทศออกแบบบริการเฉพาะกลุ่ม เช่น บริการไปรษณีย์ตอบรับในประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-AR) บริการ Pick up Service สำหรับกลุ่ม e-marketplace ขยายจุด Drop Off ผ่านเครือข่ายพันธมิตรเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ สร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการ สร้างประสบการที่ดีกับไปรษณีย์ไทย เช่น ระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ร้าน POST Café เป็นพื้นที่ Cups of Connection ให้ทุกคนได้มาพบปะ และทำกิจกรรมร่วมกันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง
ทั้งนี้ ระหว่างเดือน ม.ค. - ก.ย. 2567 ไปรษณีย์ไทยมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มงานต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 46.48% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 34.54% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 12.14% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 4.48% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.85% และรายได้อื่น ๆ 1.15% ดร.ดนันท์ กล่าว