เมื่อ : 12 พ.ย. 2567

เยาวชนตัวแทนประเทศไทย ‘ทีมแอสโทรนัต” จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้ธนยุรี (มจธ.) คว้ารางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศแอสโตรบี (Astrobee) ของ NASA ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในโครงการคิโบะ โรบอต โปรแกรมมิง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 5 (The 5th Kibo Robot Programming Challenge) ซึ่งมีตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันจาก 12 ชาติ

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินการจัดแข่งขันโครงการ The 5th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์ประเทศไทย โดยทีมแอสโทรนัต (Astronut) เป็นทีมชนะเลิศ และเป็นทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงแชมป์นานาชาติ ที่ศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการเดินทางจากบริษัท เดลว์ แอโรสเปซ จำกัด และ บริษัท 168 ลัคกี้เทรด จำกัด ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ทีมแอสโทรนัต ประกอบด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ นายธรรญธร ไชยกายุต ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นายชิษณุพงศ์ ประทีปพงศ์ ชั้นปีที่ 1 สาขากายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล นายชยพล เดชศร ชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสิรวิชญ์ แพร่วิศวกิจ ชั้นปีที่ 1 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ.) ได้เข้าร่วมการแข่งขัน The 5th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์นานาชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (JAXA) และถ่ายทอดสดทาง YouTube ช่อง JAXA จากศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนักบินอวกาศนาซา เจเน็ต เอปส์ (Janet Epps) ทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันอยู่บนห้องทดลองคิโบะโมดูล สถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อค้นหาสุดยอดทีมเยาวชนจากทั่วโลก ที่สามารถทำคะแนนได้สูงสุดในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ให้ปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมสถานีอวกาศ ซึ่งมีตัวแทนเยาวชนจาก 12 ชาติ เข้าร่วมการแข่งขัน เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

“ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมแอสโทรนัต จากประเทศไทย คว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติให้เคลื่อนที่ไปอ่าน QR Code และยิงแสงเลเซอร์เข้าเป้าหมายทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับที่ 1 ของการแข่งขัน สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ จากความสำเร็จของเยาวชนไทยในครั้งนี้ สวทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนทั้งสี่คนจะได้เรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า สามารถนำมาแบ่งปัน ต่อยอด รวมทั้งถ่ายทอดให้แก่เพื่อน ๆ เยาวชนไทยรุ่นต่อไป”

 

ด้าน นายธรรญธร ไชยกายุต นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า หัวหน้าทีมแอสโทรนัต กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบผลการแข่งขันว่า พวกเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่คว้าชัยชนะครั้งนี้มาได้ ต้องขอบคุณความตั้งใจและความพยายามของทุกคนในทีม แม้จะเจออุปสรรคจากสภาพแวดล้อมจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ แต่เราก็เตรียมตัวรับมือไว้ล่วงหน้า ทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แถมยังทำเวลาได้ยอดเยี่ยมอีกด้วย การได้นำโค้ดที่เราพัฒนาไปใช้จริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่จะนำไปปรับใช้และต่อยอดต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน

“นอกจากการแข่งขัน พวกเรายังได้เยี่ยมชมองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นที่เมืองสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น รู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นการทำงานของห้องควบคุมปฏิบัติการ (Mission Control Room) ที่คอยติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ ได้เห็นศูนย์ฝึกนักบินอวกาศ (Astronaut Training Center) และได้รับประโยชน์มากมายในด้านองค์ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติการในอวกาศ ที่สำคัญตลอดการทำกิจกรรมยังได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ต่างชาติมากมาย ทั้งญี่ปุ่น เนปาล ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานซึ่งกันและกัน สุดท้ายต้องขอขอบคุณ สวทช. และ JAXA ที่จัดการแข่งขันนี้ขึ้นมา รวมทั้งขอขอบคุณบริษัทเอกชนและผู้มีส่วนร่วมอื่น ๆ ที่สนับสนุนการเดินทางเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้พวกเราได้สัมผัสใกล้ชิดกับการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ในอวกาศ และมีโอกาสพูดคุยกับนักบินอวกาศ คุณโนริชิเงะ คะไน (Norishige Kanai) ที่มีประสบการณ์ภารกิจที่สถานีอวกาศนานาชาติมาแล้ว”


ทั้งนี้ ทีมแอสโทรนัต สามารถคว้ารางวัลอันดับ 1 มาครอง ด้วยคะแนน 253.09 คะแนน ส่วนรางวัลอื่น ๆ ได้แก่ รางวัลอันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 250.88 คะแนน และรางวัลอันดับ 3 บังคลาเทศ 153.92 คะแนน สามารถรับชมการแข่งขันย้อนหลังได้ทาง YouTube ของ JAXA ที่ลิงก์ https://www.youtube.com/live/v-ZtCfUONVU


 

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการกิจกรรมวิทยาศาสตร์อวกาศสำหรับเยาวชนได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation และแฟนเพจ NSTDA SPACE Education

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ