เมื่อ : 11 พ.ย. 2567

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โดยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)  และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดเวที “ประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2568“ ภายใต้โครงการวิจัยดนตรีประจำชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชน “ไทยใหม่” รอบแสดงสด Live เมื่อเร็วๆนี้  ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  มีวงดนตรี 8 ทีม เข้ารอบประลอง เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 6 ทีม

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนนักดนตรี ได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ตลอดจนผลักดันให้ผู้ผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขันครั้งที่ 1 ได้มีเวทีในการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีต่อยอดพัฒนาให้เป็น Soft Power ทั้งนี้ทีมเยาวชนดนตรีที่ผ่านรอบคัดเลือกออนไลน์ได้เข้าสู่เวทีรอบการแสดงสด ในเวทีการแข่งขันที่ไทยพีบีเอส และในช่วงต่อไปอีก 2 เวที ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จ.นครราชสีมา และที่ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ ”วช. พร้อมด้วยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และไทยพีบีเอส ร่วมกันสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการประลองดนตรีในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้นักดนตรีรุ่นใหม่พัฒนาฝีมือสู่ระดับมืออาชีพ และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในวงการดนตรีระดับสากลต่อไป“ดร.วิภารัตน์กล่าว

รศ. ดร. สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการวิจัยดนตรีประจำชาติ กล่าวว่า  การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้โชว์ความสามารถทางดนตรีและไอเดียสร้างสรรค์ โดยการนำเพลงไทยดั้งเดิมปรับแต่งใหม่ให้ทันสมัย ผสมผสานกับเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด ทั้งไทยและสากล รวมถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานดนตรีไปสู่สายตาชาวโลก

 

รศ.ดร. สุกรี กล่าวด้วยว่า ปีนี้มีวงดนตรีสมัครเข้ามามากกว่าปีที่แล้ว รวม 26 วง ทุกคนเตรียมตัวมาดี แสดงถึงความตื่นตัวของเยาวชนสูงมาก สิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนวงเล็กๆเหล่านี้คือ จะไปทำมาหากินได้ง่ายเพราะในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่ๆมีความต้องการวงดนตรีขนาดเล็กมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวกับ Entertainment business โรงแรมต่างๆ  ขณะที่สังคมไทย มหาวิทยาลัยไทยไม่ได้สร้างวงเล็กๆออกไปรับใช้สังคม แต่เมื่อมีการประลองครั้งนี้ทำให้เด็กอยากเล่นดนตรี ถือว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จพอสมควร และพ่อแม่ผู้ปกครองก็ตื่นเต้นกับเด็ก กรรมการทั้ง4รอบก็เป็นครูบาอาจารย์มาจากทั่วประเทศ สถาบันดนตรีต่างๆให้ความสนใจมาก วช.ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง รวมทั้งไทยพีบีเอสที่เป็นพาร์ทเนอร์ด้วย

“ยกตัวอย่างโครงการซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล อันนี้เป็นซอฟพาวเวอร์โดยตรงและมีพลังมาก หากใช้ดนตรีเยอะๆ ทุกชุมชนทุกหย่อมหญ้า ประเทศก็จะมีความสุขสมบูรณ์มากขึ้นเพราะความสุขจากเสียงดนตรีทำให้คนมีความรักความสามัคคี เนื่องจากดนตรีไม่มีชนชั้น ไม่มีพรมแดนไม่มีศาสนา ไม่มีเชื้อชาติ  เข้าได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนประเภทไหน อย่างตอนนี้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก เราเป็นประเทศที่ยังคงรักษาดนตรีพื้นบ้านท้องถิ่นไว้ได้ ถ้านำมาใช้เพื่อรับแขกบ้านแขกเมือง ด้วยนักดนตรีมีฝีมือ ดนตรีก็กลายเป็น universal language เป็นดนตรีของจักรวาลเป็นดนตรีนานาชาติเป็นดนตรีของโลก“รศ.ดร.สุกรี กล่าว

 

ศ. ดร. ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร

ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดง (การประพันธ์เพลง)

ประธานกรรมการตัดสินการประลองเยาวชนดนตรีฯ กล่าวว่า  ปีนี้เด็กๆเก่งหลายคน มีวงที่เคยเข้ามาก็พัฒนาขึ้นเยอะ โดยผสมผสานระว่างดนตรีไทยกับดนตรีสากล บางคนยังเป็นแค่เด็กมัธยมปลายแต่ฝีมือเก่งมาก ส่วนคนแต่งก็ทำได้ดีมีความคิดทางดนตรีที่แตกฉานและกล้าแสดงออก การประลองฝีมือแบบนี้ เป็นสิ่งที่ดี สามารถพัฒนาไปเป็นศิลปินที่เก่งต่อไปในภายภาคหน้าได้ นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์เพราะเด็กๆได้มาแสดงออก สิ่งสำคัญคือเวทีนี้ไม่ได้มีกำหนดที่รัดตัวมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้เด็กๆได้คิดได้ทำ ได้เห็นอะไรที่แตกต่างไปจากดนตรีคลาสสิคทั่วไป

 

“อยากให้ผู้ปกครองมองว่าในอนาคต ลูกหลานจะประกอบอาชีพทางสาขาดนตรีตรีหรือไม่ก็ตาม แต่นี่ถือเป็นกิจกรรมที่ดี สร้างเสริมความเป็นมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าเด็กจะต่อยอดขนาดไหนจะเป็นอาชีพก็ได้ หรือจะทำให้ตัวเองมีความสามารถที่เก่งกว่าคนอื่นๆก็ได้ รวมถึงมีดนตรีในหัวใจจะได้เป็นนักฟังที่ดี หรือแม้กระทั่งจะเป็นงานอดิเรกก็ได้”

ประวิทย์ คงขวัญรัตน์

ผู้จัดการฝ่ายสารคดีและสารประโยชน์ ไทยพีบีเอส

กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทำงานร่วมกับมูลนิธิอาจารย์สุกรีฯ เป็นระยะเวลา5 ปี ในการถ่ายทอดงานวิจัยกับทางวช. เรื่องงานดนตรีพื้นบ้านไปแสดงตามจังหวัดต่างๆที่มีมรดกทางวัฒนธรรม และโบราณสถาน

สำหรับการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้เพราะเห็นว่าเยาวชนไทยมีความสามารถด้านดนตรีอีกเยอะแต่ไม่ได้มีการแข่งขันกันขณะที่ไทยพีบีเอสอยากปลูกฝังสิ่งที่เป็นรากของคนไทย โดยมีการรวมตัวกันและใช้เครื่องดนตรีที่ถนัดแต่ผ่านการเรียบเรียงใหม่ ซึ่งน่าสนใจมาก ทางไทยพีบีเอสเองอยากสนับสนุนอยู่แล้วโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนของไทยที่มีความสามารถในด้านดนตรีเพื่อต่อยอดคนรุ่นเก่าโดยคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นไป ครั้งนี้เป็นโครงการประลองครั้งที่2 ทางไทยพีบีเอสเองก็ให้พื้นที่ในการบันทึกเทป โดยคัดเลือกจาก8ทีมเหลือ6ทีมเพื่อไปเล่นร่วมกับ Thai Symphony Orchestra ที่พิมาย และปราสาทเมืองต่ำ


ด้านนายนิชคุณ สิงห์สถิตย์ เยาวชนที่ร่วมการประลองเยาวชนดนตรีทั้งสองครั้ง กล่าวว่า ตอนแข่งในซีซั่นแรกไม่ได้มาในนามโรงเรียนเป็นมาส่งกันเองกับเพื่อนๆ3คน สมัครกันเอง ชื่อวงสิงห์บรรลือได้เข้ารอบชิง6ทีมสุดท้าย ครั้งนี้ก็ร่วมด้วย แต่ไม่ผ่านรอบ 8 ทีม เวทีนี้มีประโยชน์หลายด้านทั้งได้ประสบการณ์ ทักษะต่างๆ และการวางแผน การจัดครั้งที่ 2 นี้พัฒนาจากรอบที่แล้วเยอะขึ้น มีอะไรแปลกใหม่ เห็นบางวงก็มีนำดนตรีต่างประเทศมาเล่นด้วย “จากที่ผมเคยไปแข่งเวทีอื่น แตกต่างจากเวทีนี้เยอะทีเดียว เวทีนี้ที่เด่นๆคือเรามีโอกาสได้เล่นกับวงออเคสตร้า ได้ทำงานกับทีมใหญ่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ ความยากของการเล่นกับวงใหญ่ ต้องพูดคุยกันให้เข้าใจถึงจะลงตัว ปีนี้ที่วงของผมไม่เข้ารอบเพราะใช้เพลงเก่ามาเล่น แต่ว่าปีหน้าจะสมัครอีก จะฟอร์มทีมใหม่ ในตอนนี้พอมองเกมออกในระดับหนึ่งแล้ว เวทีนี้มีประโยชน์มากๆ อยากเชิญชวนให้มากันเยอะๆเพราะเป็นเวทีที่มอบประสบการณ์ให้มากกว่าที่คิดไว้”นายนิชคุณกล่าว


 

สำหรับวงดนตรี6 วงสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ ประกอบด้วยวง


 

Momentoom

Tempesta Trio

Einschlag Ensemble

Violimba

พิชชโลห์ และ

Pirun Naga Quintet

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ