เมื่อ : 01 พ.ย. 2567

ในเดือนต.ค.ของทุกปีนับเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม โรคร้ายที่นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย  โรคร้ายแรงนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมากในแต่ละปี ตอกย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งของการตระหนักรู้ด้านการป้องกันปัญหาทางสุขภาพที่เร่งด่วน ด้วยไม่เพียงเป็นโรคร้ายที่ส่งผลกระทบต่อบุคคล กระทบต่อภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัวและสังคม แต่ยังส่งผลในวงกว้างต่อระบบการดูแลสุขภาพในการวินิจฉัย และการดูแลรักษาในระดับประเทศ

มะเร็งเต้านมเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอกขึ้น และโตขึ้นกระจายสู่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่ต่อมน้ำเหลือง ปอด ตับ สมอง และกระดูก ทำให้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต สัญญาณเตือนที่สามารถตรวจพบได้คือ การคลำพบก้อนที่เต้านม หัวนมบุ๋ม หรือมีเลือดไหลออกจากหัวนม และมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังบริเวณเต้านม เช่น บุ๋ม บวม แดง มีแผล ในปัจจุบัน หากไม่มีประวัติในครอบครัวว่าเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มตรวจโดยการทำแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ในช่วงอายุประมาณ 40 ปี แต่หากพบว่าสมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ควรมีการตรวจวินิจฉัย 5 ปีก่อนที่คนในครอบครัวตรวจพบ อาทิ หากมีประวัติว่ามารดาเป็นมะเร็งเต้านมขณะที่อายุ 35 ปี การตรวจของบุตรในช่วงอายุ  30 ปี จึงนับเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันได้


มะเร็งเต้านม เป็นได้ ก็รักษาหายได้


นพ. พรสิระ หงสกุล ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่เกิดขึ้นในผู้หญิงไทยเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ พันธุกรรม ยาฮอร์โมน หรือการได้รับรังสีก็ตาม แต่อยากให้ทุกคนตรวจด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน เนื่องจากระยะการเติบโตของโรคนั้นมีลักษณะการเติบโตเป็นเดือน การรอตรวจสุขภาพประจำปีอาจจะช้าและไม่ทันท่วงที ดังนั้น การตรวจด้วยตนเองในทุกเดือนจึงเป็นสิ่งสำคัญ “เมื่อคลำพบสิ่งแปลกปลอมในเต้านมควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยหากพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม และรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม โอกาสในการรักษาหายจะมีสูงมาก ซึ่งปัจจุบัน แนวทางและยาในการรักษามะเร็งเต้านมมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือว่าการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ในการรักษาของคนไข้แต่ละคน และมีการนอนพักรักษาในโรงพยาบาลที่สั้นลง แผลเป็นลดลง ทั้งนี้ หากกล่าวถึงการผ่าตัดที่ผู้ป่วยอาจมีความกังวลนั้น นวัตกรรมทางการแพทย์ในปัจจุบัน ผลข้างเคียงจากการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหรือการใช้ยาในการรักษาลดลง โดยผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นหรือระยะแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้มากกว่า 90%”


A person in a white coat


Description automatically generatedA person in a brown jacket


Description automatically generated A person in a white coat


Description automatically generated


นพ. พรสิระ หงสกุล ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อ.นพ. วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ศ.พญ. พรพิมพ์ กอแพร่พงศ์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

โดย อ.นพ. วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองว่า ควรตรวจในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน เนื่องจากช่วงที่มีประจำเดือนจะมีอาหารคัดตึงเต้านม โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงหมดรอบประจำเดือนประมาณ 7- 10 วัน โดยแนะนำให้ตรวจช่วงหลังอาบน้ำ อาทิ ช่วงที่ทาครีมตามร่างกายและตรวจไปด้วย ซึ่งผู้ตรวจจะรู้ถึงสรีระและความผิดปกติในตัวเราได้ดีที่สุด ศ.พญ. พรพิมพ์ กอแพร่พงศ์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวเสริมถึงวิธีการตรวจด้วยตนเองว่า “การตรวจด้วยตนเองสามารถทำได้ 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ วิธีที่ 1 – เริ่มจากการคลำบริเวณตรงกลางนมแล้วคลำวนเป็นวงกลมออกไปเรื่อย ๆ จนทั่วบริเวณ และแบบที่ 2  - คือการตรวจทีละส่วนของเต้านม เช่น การตรวจด้านในส่วนบนลงมาด้านในส่วนล่าง จากนั้นเปลี่ยนเป็นด้านนอกส่วนบนและด้านนอกส่วนล่าง ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการตรวจโดยใช้นิ้วเนื่องจากจะทำให้มีความรู้สึกระหว่างตรวจที่ชัดเจน”

กินอาหารดี สุขภาพดี สู้มะเร็งเต้านม


ผศ.ภญ. เจนนิษฐ์ มีนวัฒนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เปิดเผยว่า อาหารมีบทบาทเป็นอย่างมากในการดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้เป็นโรค และกลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม โดยในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้เป็นโรคแนะนำให้ลดอาหารกลุ่มที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เพิ่มผักสีสันต่าง ๆ เข้าไปเพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และกำจัดพวกอนุมูลอิสระต่าง ๆ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมทั้งกลุ่มอาหารที่ประกอบไปด้วยโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน หรือปลาทู ในส่วนของคนไข้ที่เป็นมะเร็งและกำลังอยู่ระหว่างการรักษา เซลล์ในร่างกายจะมีความอ่อนแอ จึงมีความจำเป็นในการเสริมโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอและหลากหลาย ที่สำคัญ อาหารต้องเป็นอาหารที่ปรุงสุกมื้อต่อมื้อ และสะอาด จะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด


A person wearing boxing gloves


Description automatically generatedTwo women sitting on a stage


Description automatically generated


ผศ.ภญ. เจนนิษฐ์ มีนวัฒนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


นอกจากนี้ การออกกำลังกายก็มีความสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้ร่างกายมีการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งลดโอกาสการเกิดโรคอ้วน และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ สำหรับผู้ป่วยในช่วงที่ให้ยาเคมีบำบัดหรือรับการรักษาอาจจะรู้สึกอ่อนเพลีย หากวันที่รู้สึกว่าเริ่มฟื้นตัวแล้ว การออกกำลังกายเบา ๆ ถือเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในบริเวณชุมชน เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อค่อนข้างสูง


จากผู้ป่วยมะเร็งเต้านม สู่การเป็นผู้ส่งต่อกำลังใจ

คุณไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้ง ART for CANCER เปิดเผยว่า โครงการ ART for CANCER เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่พบว่าป่วยเป็นมะเร็งเต้านม เมื่อเป็นมะเร็งแล้วจึงรู้สึกว่าเป้าหมายชีวิตเปลี่ยนไป จึงอยากมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า และแก้ไขปัญหาด้วยศักยภาพของตนผ่านงานศิลปะ และการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมทั้งการความช่วยเหลือผ่านการให้กำลังใจ กำลังทรัพย์ และการให้ความรู้ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย “จริง ๆ แล้วผู้หญิงไทยยังคงกลัวการไปตรวจมะเร็งเต้านม และยังมีความเชื่อที่ว่าเป็นมะเร็งเต้านมต้องตัดทิ้งเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่โครงการ ART for CANCER ให้ความสำคัญคือ การพยายามให้ความรู้ เปลี่ยนความเชื่อเดิม ๆ ในเรื่องการเป็นโรคมะเร็งเต้านมให้เกิดความเชื่อใหม่ว่า ตรวจพบเร็วในระยะเริ่มต้น รักษาหายได้ การเปลี่ยนความกลัวการไปตรวจของคนนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก หลายคนกลัวการรักษา กลัวการตัดเต้านม กลัวไม่หาย ไม่ว่าความกลัวในแบบใดก็ตาม เรามีหน้าที่ย้อนกลับไปหาสาเหตุ และอุดรอยรั่วความกลัวตรงนั้น ด้วยความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง ทุกการช่วยเหลือที่เปลี่ยนความคิดคนได้ หรือให้กำลังใจผู้ป่วยได้มันเป็นพลังส่งต่อเรื่องราวดี ๆ สร้างทัศนคติที่ดีให้กับทุกคน”