ปรมาณูเพื่อสันติ จับมือห้องปฏิบัติการนิวเคลียร์ระดับโลก สหรัฐฯ เดินหน้าเตรียมความพร้อมรองรับ โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (SMRs)

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) รรท. เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายของกระทรวง อว. ที่มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนากฎหมายและองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์อย่างยั่งยืน ปส.อว. จึงสร้างความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาและเรียนรู้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียนรู้แนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลนิวเคลียร์จากหน่วยงานวระดับโลก อาทิ Idaho National Laboratory (INL) และ Brookhaven National Laboratory (BNL) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระดับสากลด้านเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และการจัดการความปลอดภัย เพื่อศึกษาและเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการพัฒนากรอบกฎหมายที่เข้มแข็ง การกำกับดูแลระบบ และก้าวทันเทคโนโลยี

การเดินทางดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 24 – 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบการพัฒนาและยกระดับกฎหมายกำกับดูแลนโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (SMRs) ในประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการรองรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactors; SMRs) ซึ่งมีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง ที่สามารถตอบโจทย์ด้านพลังงานสะอาดและความมั่นคงทางพลังงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า การสร้างความร่วมมือ และการเรียนรู้พัฒนา ณ INL ศูนย์กลางการวิจัยด้านพลังงานนิวเคลียร์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา “ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนของระบบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงกระบวนการออกใบอนุญาต การตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมาย” อีกทั้งคณะผู้แทนไทยได้มีโอกาสหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ เกี่ยวกับการกำกับดูแล การจัดการกากกัมมันตรังสี และการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูง รวมถึงโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (SMRs) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ประเทศไทยให้ความสนใจ

จากนั้น คณะเดินทางไปยัง BNL รัฐนิวยอร์ก เพื่อศึกษาการดำเนินงานในด้านฟิสิกส์พลังงานสูง วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ และระบบสนับสนุนด้านการกำกับดูแล ซึ่งช่วยเสริมภาพรวมความเข้าใจในการบริหารจัดการความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติการ
“บทเรียนจากการเยี่ยมชม INL และ BNL จะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาและปรับปรุงร่างกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ รวมถึงระบบกำกับดูแลที่ได้มาตรฐาน และเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนากฎหมายที่มีความยืดหยุ่น ทันสมัย และระบบกำกับดูแล ที่มีธรรมาภิบาลรองรับเทคโนโลยีใหม่ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ตลอดจนการความเตรียมพร้อมของประเทศไทยในการยกร่างพ.ร.บ.ความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน หากในอนาคตประเทศไทยมีแผนนำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP)” นพ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ คาดว่าร่างพ.ร.บ.ความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในเร็ว ๆ นี้ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย ยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
#สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)#โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (SMRs)# Idaho National Laboratory (INL) # Brookhaven National Laboratory (BNL)