เมื่อ : 25 ต.ค. 2567

ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) นำคณะ กสว. และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม (สกสว.) เข้าหารือ แลกเปลี่ยนนโยบายและรูปแบบการบริหารจัดการทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น กับ ดร.ทาคาฮิโร อูเอะยาม่า เลขาธิการสภาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และคณะผู้บริหารของ CSTI เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้าง พันธกิจ และการบริหารงานของสภาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สำนักงานคณะรัฐมนตรี กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา

ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า สภาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Council for Science Technology and Innovation: CSTI)เป็นหน่วยงานในสำนักงานคณะรัฐมนตรี (Cabinet office) จัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติการจัดตั้งสำนักงานคณะรัฐมนตรี  เพื่อทำหน้าที่กำหนดวิสัยทัศน์ และภาพรวมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งวางแผนและกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ CSTI ยังมีหน้าที่ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นตัวกลางที่สำคัญในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล รวมถึงภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในญี่ปุ่น


ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแผนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ฉบับที่ 6 ซึ่งเพิ่มมิติเรื่องของนวัตกรรมเข้ามา เน้นการสร้างสังคม 5.0 ที่เน้นความเชื่อมโยงระหว่างกายภาพสู่อนาคต ยกระดับความเป็นอยู่ในอนาคตและพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับชาติที่รัฐบาลญี่ปุ่นผลักดันในช่วงที่ผ่านมาคือเรื่องของการเพิ่มจำนวนนักวิจัยที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นพบว่าคนที่จะเรียนต่อระดับปริญญาเอก หรือทำวิจัยหลังปริญญาเอกมีน้อย จึงต้องการเร่งเพิ่มจำนวนคนในกลุ่มนี้ และสนับสนุนให้เข้าไปทำงานในภาคเอกชน และสามารถเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการ นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมียุทธศาสตร์ที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการทำงานกับท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จึงมีแผนสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสามารถทำงานร่วมกับท้องถิ่นได้

“คณะ กสว. และผู้บริหารจาก สกสว. เข้ามาพบ ดร.ทาคาฮิโร อูเอะยาม่า เลขาธิการสภาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และคณะผู้บริหารของ CSTI เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้าง พันธกิจ และการบริหารงานของสภาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะโครงการสนับสนุนยุทธศาสตร์มุ่งเป้าผ่านการทำงานข้ามกระทรวง ที่เรียกว่า Strategic Innovation Promotion Program (SIP) และโครงการ Moonshot ซึ่งเป็นโปรแกรมการวิจัยและพัฒนา Moonshot ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2020 โดยสํานักงานคณะรัฐมนตรี (CAO)  โปรแกรม Moonshot มีกรอบแนวคิดมาจากโครงการและโปรแกรมในอดีตของ CSTI คือ FIRST และ IMPACT มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมอย่างพลิกผัน (Disruptive innovation) ของญี่ปุ่น เพื่อแก้ไขปัญหายากทางสังคม โดยสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาที่ท้าทาย ซึ่งไม่ใช่การต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม โดยมีการรวมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญจากทั่วโลก เพื่อทำวิจัยและพัฒนาแก้ไขปัญหาท้าทายร่วมกัน”


นอกจากนี้ กสว. ได้มีโอกาสเยี่ยมชมโครงการ SIP สามแห่ง ที่มีพันธกิจมุ่งเน้นในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน การสร้างเครือข่ายป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการสนับสนุนห่วงโซ่อาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการ SIP นี้ ได้รับการบริหารและขับเคลื่อนโดย Program Director (PD) ที่ผ่านการคัดเลือกโดยบอร์ดกำกับดูแล (Governing Board GB) โดย GB มีหน้าที่ในการประเมินและให้คำแนะนำกับทุก SIP โปรแกรม ที่ถูกกำหนดโจทย์และทิศทางมาจาก CSTI  เน้นเรื่องที่มีความสำคัญต่อสังคมและประเทศ ความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ  เป็นโครงการมุ่งเป้าเน้นประโยชน์ต่อสังคม ดำเนินการและขับเคลื่อนเพื่อสังคม (Social Implementation) ซึ่งมิติของการดำเนินการเพื่อสังคมนี้มีตัวชี้วัดห้าด้านด้วยกันได้แก่ 1. ความพร้อมของเทคโนโลยี 2. ความพร้อมในมิติธุรกิจ 3. ความพร้อมของการกำกับดูแล 4. การเป็นที่ยอมรับจากชุมชน และ 5. ความพร้อมทางบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นได้ว่าโปรแกรม SIP จะสำเร็จได้ต้องเป็นการทำงานข้ามกระทรวงจึงต้องบริหารโดยหน่วยงานกลางคือ CSTI


จากการเข้าเยี่ยมพบ CSTI และหน่วยปฏิบัติการของ SIP ทั้งสามแห่งนี้ กสว. และคณะผู้บริหาร สกสว. มีแผนหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับทิศทางการบริหารจัดการโครงการมุ่งเป้าภายใต้ระบบ ววน. ของประเทศไทยต่อไป