เมื่อ : 24 ต.ค. 2567

ในขณะที่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ทั่วโลกกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตลาดที่มีความสำคัญต่อการผลักดันอุตสาหกรรมนี้อย่างตลาดซื้อ-ขายคอนเทนต์ ก็เติบโตควบคู่ไปด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการมีตลาดที่จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) เกิดขึ้นทั่วโลกมากมาย เช่น งาน Marché du Film ภายใต้เทศกาล Cannes International Film Festival Asia TV Forum & Market Singapore (ATF) และ Hong Kong International Film and TV Market (FILMART) ฯลฯ เวทีเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์ได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนการซื้อขายคอนเทนต์ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายคอนเทนต์จากทั่วโลกด้วยเหตุนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์(องค์การมหาชน)หรือCEAในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงนักสร้างสรรค์ตลอดจนนักธุรกิจ-นักลงทุนเข้าไว้ด้วยกัน จึงได้เปิดตัวตลาดซื้อขายคอนเทนต์ของไทยครั้งใหญ่อย่าง Content Project Marketขึ้นเป็นครั้งแรกที่ไม่ได้มีเพียงการซื้อขายคอนเทนต์โปรเจ็กต์ภาพยนตร์และซีรีส์แต่ยังมีโปรเจ็กต์สำหรับสายงานด้านแอนิเมชันและนักเขียนบทระดับมืออาชีพของไทยโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Content Lab 2024 สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล

Content Project Market เป็นพื้นที่ที่สร้างโอกาสทางธุรกิจให้นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ของไทยได้นำเสนอผลงาน ทั้งบทภาพยนตร์และซีรีส์ของตนเอง รวมไปถึงไอเดีย เนื้อหา หรือคอนเซ็ปต์ (Pitch Deck) ที่ยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาต่อนักธุรกิจ-นักลงทุนในแวดวงอุตสาหกรรมคอนเทนต์ และสตรีมมิงแพลตฟอร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 64 บริษัท เช่น บริษัทเนรมิตรหนัง ฟิล์ม จำกัด บริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ จำกัด บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด Skyline Media Group จากประเทศเวียดนาม Barunson E&A จากประเทศเกาหลีใต้ Mocha Chai Laboratories จากประเทศสิงคโปร์ ฯลฯ


ทั้งนี้ CEA มองว่านอกจาก Content Project Market จะเป็นการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้แก่เหล่านักสร้างสรรค์ของไทย และพัฒนาศักยภาพผู้สร้างคอนเทนต์แล้ว ยังมุ่งหวังการสร้างโอกาสในการต่อยอดผลงานของตนเองสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์และทัดเทียมมาตรฐานอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในระดับสากล ไปจนถึงการสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยในระดับสากลในอนาคต เพื่อเป็นอีกหนึ่งความหวังและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้สร้างสรรค์รุ่นใหม่ ตลอดจนผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทยสามารถเติบโตในตลาดโลกอย่างยั่งยืนอีกด้วย


ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “การจัดงาน Content Project Market เปรียบได้กับตลาดซื้อขายและเวที Pitching คอนเทนต์ของไทย ที่เชื่อมโยงนักสร้างสรรค์กับนักลงทุนให้มาพบปะพูดคุยเพื่อเจรจาต่อยอดธุรกิจ โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชัน ในขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ สร้างเครือข่าย และพัฒนานักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ให้มีทักษะในการนำเสนอผลงานกับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะต่าง ๆ ภายใต้โครงการ Content Lab 2024 รวมถึงนักสร้างสรรค์คอนเทนต์มืออาชีพจากการเปิดรับสมัครจากภายนอก รวมทั้งหมด 59 โปรเจ็กต์ โดยแบ่งเป็นโปรเจ็กต์จากโครงการ Content Lab 2024 จำนวน 37 โปรเจ็กต์ ได้แก่ ภาพยนตร์และซีรีส์ จำนวน 10 โปรเจ็กต์ แอนิเมชัน จำนวน 7 โปรเจ็กต์ และบทภาพยนตร์และซีรีส์ จำนวน 20 โปรเจ็กต์ และจากการเปิดรับสมัคร (Open Call) จำนวน 22 โปรเจ็กต์

ทั้งนี้นักสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมงานได้นำโปรเจ็กต์ที่พัฒนาแล้วของตนเองมานำเสนอกับนักธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ นักลงทุนจากสตรีมมิงแพลตฟอร์มระดับสากล รวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านเวที Pitching และการเจรจาธุรกิจ Business Matching เพื่อต่อยอดผลงานสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมกันผลักดันและยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยให้เป็นที่รู้จักบนเวทีนานาชาติ นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต โดยในปี 2565 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ‘คอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์’ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.08 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตจากปีก่อนหน้า (2564) ถึง 12% และคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะจากการเติบโตของสตรีมมิงแพลตฟอร์มต่าง ๆ”


สำหรับงาน Content Project Market จัดขึ้นครั้งแรกขึ้นในปี 2566 โดยเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Content Lab 2023 ที่ได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากกลุ่มธุรกิจและพันธมิตรในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ทั้งไทยและต่างประเทศ และทีมที่เข้าร่วมโครงการในกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์ จำนวน 13 ทีม ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ปี 2567 นี้ CEA เดินหน้าต่อยอดและสานต่อความสำเร็จ ด้วยการจัดทำโครงการ Content Lab 2024 สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล โดยได้ขยายขอบเขตของโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์ในสเกลที่กว้างขึ้น พร้อมพัฒนาหลักสูตรให้เข้ากับความต้องการของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในปัจจุบันมากขึ้น ผ่านโครงการบ่มเพาะ (Incubation Programs) 4 โครงการ และโครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ 1 โครงการ ได้แก่ 1) Content Lab: Newcomers แคมป์สำหรับคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ 2) Content Lab: Mid-Career โครงการพัฒนาโปรเจ็กต์ภาพยนตร์และซีรีส์ สำหรับบุคลากรวิชาชีพระดับกลางในสายโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบท 3) Content Lab: Animation เวิร์กช็อปพัฒนาซีรีส์โปรเจ็กต์สำหรับสายงานด้านแอนิเมชันในกลุ่ม Mid-Career


4) Content Lab: Advanced Scriptwriting เวิร์กช็อปพัฒนาการเขียนบทระดับมืออาชีพโดยวิทยากรจากไทยและต่างประเทศ และโครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจภายใต้ชื่อ Content Project Market ที่จัดขึ้นครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นอีก 1 โครงการปลายทางสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันและต่อยอดผลงานของนักสร้างสรรค์ สู่โอกาสในการนำเสนอผลงานต่อนักลงทุนและภาคธุรกิจผ่าน 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมนำเสนอโปรเจ็กต์ของผู้ที่ได้รับการบ่มเพาะจากโครงการ Content Lab 2024 และกิจกรรมเจรจาธุรกิจระหว่างเจ้าของโปรเจ็กต์คอนเทนต์ และนักลงทุน ผู้ผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“CEA ในฐานะองค์กรที่ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชื่อมั่นว่าการจัดงาน Content Project Market ในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันและต่อยอดผลงานของนักสร้างสรรค์สายคอนเทนต์จากโครงการย่อยต่าง ๆ ของโครงการ Content Lab 2024 ข้างต้นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จากจุดเริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาทักษะเพื่อยกระดับคุณภาพของผลงานสร้างสรรค์ให้ดียิ่งขึ้น ไปสู่การนำเสนอโปรเจ็กต์ให้เกิดการผลิตขึ้นได้จริงในตลาดคอนเทนต์ และยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดสากลได้อย่างแข็งแกร่ง ตลอดจนเป็นผลงานต้นแบบในการส่งเสริมและสนับสนุนนักสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์คอนเทนต์ไทยให้เติบโตในระดับโลกต่อไป” ดร.ชาคริต กล่าวสรุป


 

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Content Lab 2024 ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ Content Lab รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ของ CEA ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th