ชาวยะลาปลื้ม! อ่างเก็บน้ำลำพะยาใกล้เสร็จปี 2569 แก้แล้ง บรรเทาท่วม สืบสานพระราชดำริสู่วิถีชุมชนอย่างยั่งยืน

ประชาชนในต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ต่างปลื้มปีติที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใกล้แล้วเสร็จภายในปี 2569 ภายใต้การสืบสาน รักษา และต่อยอดโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค บรรเทาน้ำท่วมในฤดูฝน พร้อมเป็นแหล่งน้ำสำรองขนาดใหญ่ที่สร้างความมั่นคงให้กับคนในพื้นที่ทั้งปี นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ชุมชนในระยะยาว

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เปิดเผยระหว่างติดตามการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ลำพะยา ว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2523 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยาที่บริเวณบ้านทองลับ ต.ลำพะยา เพื่อเก็บกักน้ำสนับสนุนโครงการฝายทดน้ำลำพะยา และส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ บริเวณต.ลำพะยา ต.ลำใหม่ ต.ลิดล และต.พร่อน อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ประมาณ 8100 ไร่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง และบรรเทาอุทกภัยในหน้าฤดูฝนของราษฎรในพื้นที่
ปัจจุบันคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งมีพลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ ได้มีการติดตาม เร่งรัด ทําให้โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นและเริ่มก่อสร้างในปี 2563 ตอนนี้คืบหน้ากว่าร้อยละ 40 คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน 2569 ที่สำคัญได้มีการบูรณาการร่วมกับชุมชนในการฟื้นฟูดูแลพื้นที่ต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีการวางแผนการใช้น้ำให้แก่พื้นที่อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นการวางแผนล่วงหน้าก่อนที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะแล้วเสร็จ” นางสุพร กล่าว

นายสมพล ชุมแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 16 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยา ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้างตัวเขื่อน อาคารระบายน้ำล้น และอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้ 13.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนและส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลำพะยา ต.ลำใหม่ ต.พร่อน และต.ลิมุด รวมถึงส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ อ.เมืองยะลา ประมาณ 2600 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่าง ได้แก่ต.ท่าสาป ต.พร่อน ต.ลำใหม่ และต.ลำพะยา
“ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ในการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อร่วมบริหารจัดการน้ำ โดยบริเวณด้านท้ายอ่างเก็บน้ำฯ จะเป็นพื้นที่การเกษตรของราษฎร มีการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เช่น ทุเรียน ลองกอง ยางพารา และปาล์ม เมื่อมีแหล่งน้ำสำรองอย่างเพียงพอก็จะช่วยให้การเกษตรมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น คุณภาพชีวิตและฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรก็จะดีขึ้นเช่นกัน ส่วนปัญหาเรื่องอุทกภัยในช่วงหน้าฝนก็จะบรรเทาลง ช่วยลดความรุนแรงเรื่องน้ำหลากในพื้นที่อ.เมืองยะลาได้เป็นอย่างดี และจากภูมิประเทศที่สวยงาม มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีภูเขา และต้นไม้อยู่รอบบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำ กรมชลประทานจึงมีแผนก่อสร้างถนนรอบอ่างเก็บน้ำ เพื่อความสะดวกในการสัญจร และรองรับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต” นายสมพล กล่าว

ด้านนายนิทัศน์ สีชมพู ราษฏรต.ลำพะยา เผยว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด หน้าแล้งขาดน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร หน้าฝนเกิดอุทกภัย สร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง แหล่งน้ำขนาดเล็กมีเพียงแห่งเดียว คือ ฝายนกรัง ที่เดิมขุดขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำเหมืองแร่ แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของประชาชนในพื้นที่
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานรักษาต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้เกิดขึ้นผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ทั้งกลุ่มที่ได้รับประโยชน์และกลุ่มที่ต้องเสียสละพื้นที่ทำกินเพื่อการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำร่วมทำประชาคมหลายครั้งด้วยกัน ซึ่งทุกคนต่างเห็นด้วย ทำให้การก่อสร้างจึงเริ่มขึ้น โครงการนี้จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอทั้งปี หน้าฝนจากที่เกิดอุทกภัยทุกครั้งต่อไปก็คงบรรเทาได้ และจะมีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติเกิดขึ้น รายได้ของชุมชนก็จะเพิ่มขึ้นตามมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมอบโครงการที่เป็นประโยชน์ ให้กับประชาชน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานรักษาต่อยอด จนโครงการเกิดการก่อสร้าง ทุกคนรู้สึกยินดีกันอย่างยิ่ง” นายนิทัศน์ กล่าว
สำหรับอ่างเก็บน้ำลำพะยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ลำพะยา เป็นเขื่อนดินแบบ Zone Type ความยาวทำนบดิน 1348 เมตร สูง 33.42 เมตร กว้าง 8 เมตร ความจุระดับเก็บกัก 13 ล้านลูกบาศก์เมตร
#โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ #กรมชลประทาน#สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร.)