เมื่อ : 25 มิ.ย. 2568

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า Times Higher Education (THE) หน่วยงานด้านการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของโลก ได้ประกาศผลการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ THE Impact Rankings ประจำปี 2568


ในปีนี้มีสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งหมด 2526 แห่ง จาก 130 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก และมีสถาบันอุดมศึกษาไทยเข้ารับการจัดอันดับทั้งสิ้น 83 แห่ง เพิ่มจากปี 2567 ซึ่งมีจำนวน 77 แห่ง ซึ่งผลการจัดอันดับปรากฎว่า มี 5 สถาบันอุดมศึกษาไทยอยู่ในอันดับ Top 100 ของโลก แบบคะแนนรวม ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) อันดับที่ 44 มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) อันดับที่ 64 และมีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อันดับที่ 93 ซึ่งขยับมาอยู่ในอันดับ Top 100 เป็นปีแรก อีกทั้งยังเป็นสถาบันอุดมศึกษาอันดับ 1 ของโลกที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการดำเนินงาน SDGs เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality)


นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาไทยอีกหลายแห่งที่ได้รับการจัดอันดับที่ 101-200 ของโลก ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.)มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ มอ.
 

ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า ขณะที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครศรีธรรมราช ได้มีพัฒนาการโดดเด่นใน SDGs เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals) โดยสามารถยกระดับอันดับจากเดิมที่อยู่ในลำดับ 1500 ในปี พ.ศ. 2567 มาอยู่ในช่วงอันดับที่ 401-600 ในปี พ.ศ. 2568 โดยมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับรากฐานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งใหม่ในเมืองตลาดระดับท้องถิ่น

“ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของสถาบันอุดมศึกษาไทยในเวทีโลกครั้งนี้ และขอยกย่องความมุ่งมั่นของสถาบันอุดมศึกษาไทยทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาทุกคนในการร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผลงานที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงบทบาทสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาไทยในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการศึกษา งานวิจัย การบริการวิชาการ และการบริหารจัดการที่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว. ในการส่งเสริมบทบาทของอุดมศึกษาไทยในฐานะกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนและแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยกระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและประเทศชาติในทุกมิติอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป“ ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
 

ด้าน ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า นี่คือความภาคภูมิใจร่วมกันของประเทศ และเป็นแรงบันดาลใจให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก้าวสู่ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ตระหนักถึงความสำคัญของการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ากับพันธกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษา โดยเน้นการส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และพร้อมจะส่งเสริมและผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดความเข้มแข็งในระดับสถาบันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีระหว่างสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพของอุดมศึกษาไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก


ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดอันดับความยั่งยืนในแต่ละด้าน มีสถาบันอุดมศึกษาไทยที่ติดอันดับเป็นที่หนึ่งของประเทศดังต่อไปนี้ SDGs 1 เรื่อง ขจัดความยากจนทกุรูปแบบในทุกพื้นที่ ได้แก่ มอ. อันดับที่ 32 ของโลก SDGs 2 เรื่อง ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ได้แก่ มสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) อันดับที่ 18 ของโลก SDGs 3 เรื่อง สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 3 ของโลก SDGs 4 เรื่อง สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับที่ 17 ของโลก *SDGs 5 เรื่อง บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมอำนาจให้แก่สตรีและเด็กหญิง ได้แก่ มวล. อันดับที่ 1 ของโลก SDGs 6 เรื่อง สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืนคน ได้แก่ มจธ. อันดับที่ 44 ของโลก SDGs 7 เรื่อง สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา ได้แก่ มอ. อันดับที่ 83 ของโลก SDGs 8 เรื่อง ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ได้แก่ มอ.อันดับที่ 14 ของโลก

SDGs 9 เรื่อง สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 26 ของโลก SDGs 10 เรื่อง ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) อันดับที่ 101-200 ของโลก SDGs 11 เรื่อง ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน ได้แก่ จุฬาฯ อันดับที่ 33 ของโลก SDGs 12 เรื่อง สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ได้แก่ มก. อันดับที่ 67 ของโลก SDGs 13 เรื่อง ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้แก่ มช. อันดับที่ 40 ของโลก SDGs 14 เรื่อง อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ มจธ. อันดับที่ 24 ของโลก SDGs 15 เรื่อง ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ มอ. อันดับที่ 34 ของโลก SDGs 16 เรื่อง ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ ได้แก่ มธ. อันดับที่ 4 ของโลก และ SDGs 17 เรื่อง เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ มอ. อันดับ 10 ของโลก
 

 


# Times Higher Education (THE)#กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ