วว. ผนึกกำลัง 25 หน่วยงาน ขับเคลื่อนการบริหารดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของไทย
ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. เข้าร่วมพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจการบูรณาการข้อมูลเพื่อสร้างเครือข่ายการบริหารดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ระหว่าง 25 หน่วยงาน โดยมี นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีฯ และกล่าวต้อนรับ การลงนามฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณการประสานความร่วมมือฯ มุ่งไปสู่การยกระดับค่าคะแนนดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ให้บรรลุตามที่ปรากฏในแผนแม่บทย่อย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น 18 การเติบโตอย่างยั่งยืน ตัวชี้วัด “ดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม” (Environment Performance Index : EPI) ในวันจันทร์ที่ 21 ต.ค. โรงแรมอมารี กรุงเทพฯ
อนึ่ง พื้นที่ป่าสงวนชีวมณฑลสะแกราช อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา มีเนื้อที่ประมาณ 78 ตารางกิโลเมตร (48750 ไร่) เป็นสถานที่เพื่อการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน มีนักวิจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเข้ามาศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีงานวิจัยในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 920 เรื่อง ส่งผลให้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชมีองค์ความรู้จากการวิจัยและได้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาให้แก่นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติ สำหรับนักเรียน นักศึกษา เพื่อการศึกษาและวิจัยทางธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
ทั้งนี้วว. ได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนิน โครงการฐานข้อมูลพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2565 และโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนสะแกราช รองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนทรัพยากรธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2564 โดยมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นพันธมิตรร่วมดำเนินงาน ประสบผลสำเร็จในการจัดทำ ฐานข้อมูลมวลชีวภาพการกักเก็บคาร์บอนและการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบนิเวศป่าไม้ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดการพื้นที่ป่า รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีการเพิ่มพื้นที่ป่าในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนสะแกราชฯ ประกอบด้วย (1) กิจกรรมการปลูกป่า 50 ไร่ มีปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เท่ากับ 58.450 ตัน/ปี (2) แปลงสาธิต สำหรับการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม เนื้อที่ 15 ไร่ มีปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ เท่ากับ 17.535 ตัน/ปี และ (3) แปลงสาธิตการเพิ่มพื้นที่ป่าโดยการปลูกไม้วงศ์ยางผสมเชื้อเห็ด เนื้อที่ 30 ไร่ มีปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ เท่ากับ 35.070 ตัน/ปี เมื่อคิดเป็นเนื้อที่จากการเพิ่มป่าทั้งหมด 95 ไร่ พบว่ามีปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ เท่ากับ 111.055 ตัน/ปี และในอีก 5 ปีข้างหน้า จะสามารถดูดซับ คาร์บอนฯ เท่ากับ 210.045 ตัน/ปี โดยดำเนินการในการติดตามอัตราการรอด การเจริญเติบโตของกล้าไม้ และประเมินศักยภาพของการดูดซับคาร์บอนฯ ทุกปี