เมื่อ : 09 มิ.ย. 2568


เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.  นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) มอบหมายให้ นายสุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้ช่วยเลขาธิการกอศ. เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการสถาบันภาษาจีนและการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวะ ครั้งที่ 2 และการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาไทย–จีนให้ก้าวสู่ระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ย้ำความสำคัญของการพัฒนากำลังคนผ่านอาชีวศึกษา ที่ตอบโจทย์โลกศตวรรษที่ 21

 

ในการนี้  นายสุรพงษ์ ได้น้อมนมัสการ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมชโย) 
และกล่าวต้อนรับนายหยู่ หยุนเฟิง ผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (Center for Language Education and Cooperation : CLEC) กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้บริหารศูนย์ CLEC ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ร่วมด้วยผู้อำนวยการสถานศึกษา คณะกรรมการ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาให้เท่าทันโลก เท่าทันเทคโนโลยี และเท่าทันอุตสาหกรรม ความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์  ซึ่งสถาบันภาษาจีนและการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวะ ถือเป็นกลไกหลักในการผลักดันนโยบาย ภาษาจีน ทักษะอาชีพ (Chinese TVET) ซึ่งเป็นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เช่น EEC รวมถึงช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ผู้ช่วยเลขาธิการกอศ. กล่าวต่อไปว่า นโยบาย “3 1” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่เน้นทักษะ 3 ภาษา (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน) และ 1 ทักษะดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถสื่อสาร และเข้าใจวัฒนธรรมจีน โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้กำหนด 5 เป้าหมายเชิงยุทธศาตร์ ในการความร่วมมือกับจีน ได้แก่ 1.การพัฒนาครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ผ่านการอบรมและแลกเปลี่ยน 2.การพัฒนาหลักสูตรร่วม (Joint Curriculum) เชื่อมโยงระบบคุณวุฒิ ไทย-จีน  3.การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI IoT และ Automation  4.การขยายโอกาสการเรียนรู้ภาษาจีนในสถานศึกษาอาชีวะ โดยมีศูนย์ภาษาจีนระดับภูมิภาคเป็นศูนย์กลาง 5.การสร้างระบบฝึกงาน ในรูปแบบความร่วมมือทวิภาคี ที่นำไปสู่การมีงานทำจริงของผู้เรียน 


พร้อมทั้งประชุมหารือและจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาไทย-จีน ร่วมกัน โดย สอศ. ดำเนินการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานร่วมกันสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน เชื่อมโยงกับนโยบายระดับประเทศ และตอบสนองความต้องการกำลังคนในอนาคตอย่างแท้จริง และเป็นหมุดหมายสำคัญของปี 2568 และเป็นรากฐานที่มั่นคงในการสานต่อความร่วมมือไทย–จีนในระยะยาวต่อไป

 

 

#กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน#สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)#ศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ