เมื่อ : 20 ต.ค. 2567

ชุมชนบ้านปางมะกล้วย หมู่ที่ 2 ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีประชากร 364 ครัวเรือน 836 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพื้นเมืองและชนเผ่ากระเหรี่ยง พื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แตง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ลา-แม่แสะ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 16087 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 274 ไร่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 8719 ไร่ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1300 เมตร

ชุมชนบ้านปางมะกล้วย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การปลูกชาเมี่ยง หรือชาอัสสัม โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้เข้าไปขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนบนฐานสังคม เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2556 ให้คนอยู่ร่วมกับป่า เสริมภูมิปัญญาและพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้ในการส่งเสริมและต่อยอดภูมิปัญญาการปลูกพืชเดิมร่วมกับพืชอื่นภายใต้ระบบอนุรักษ์ โดยไม่บุกรุกป่าหรือตัดทำลาย รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าของพืชเดิมและจากความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์พืช ผึ้ง และเห็ดท้องถิ่น ซึ่งผลสัมฤทธิ์จากการพัฒนาและการทำงานแบบมีส่วนร่วม ส่งผลให้ชุมชนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงจากการเกื้อกูลป่า ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ และพร้อมใจกันดูแลรักษาและบริหารจัดการป่าไม้ในพื้นที่อย่างยั่งยืน

นายศุภกฤต วรนันสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ สวพส. กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาชุมชนบ้านปางมะกล้วย มีการส่งเสริมให้มีการทำเกษตรอินทรีย์ และใช้พลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ มีการปลูกป่าและการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ซึ่งปัจจุบันถือว่าประสบความสำเร็จเพราะพื้นที่ปลอดการเผา 100% และเป็นกิจกรรมที่คนในชุมชนทำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันชุมชนมีความพร้อมในเข้าร่วมโครงการ T-VER โดยการดำเนินงานของกรมป่าไม้และ สวพส.


ภายใต้โครงการร่วม ซึ่งอาศัยมาตรา 19 แห่งพรบ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพื่อดำเนินงานโครงการฯ ให้เป็นไปตามแนวทางการควบคุม ป้องกัน ดูแล และบำรุงป่าสงวนแห่งชาติ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า ตลอดจนการสร้างผลตอบแทนและแรงจูงใจจากการดูแลรักษาป่า และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มีกลไกการทำงานที่เข้มแข็งในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้“คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน”


สำหรับพืชท้องถิ่น ทั้งพืชอาหารและพืชสมุนไพร ได้มีการยกระดับจากพืชป่ามาเป็นพืชปลูก สร้างรายได้จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน อาทิ รางจืด ตีนฮุ้งดอย หวายฝาด กาแฟ ชาอัสสัม มะแขว่น ลิงลาว เชียงดา ข่าแกง ต๋าว และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพเสริมในระบบ โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย รวมทั้งยกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่กระบวนการปลูก การจัดการ การแปรูป และการตลาด เช่น ชาอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ชาอัสสัม  โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ชาอัสสัมถือว่าประสบความสำเร็จทางการตลาดอย่างมาก มีการส่งออกไปขายต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา และในยุโรป เช่น โปรแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และยังมีจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชน

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบโรงเรือน และการปลูกไม้ดอก ที่ใช้พื้นที่น้อย แต่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อเป็นรายได้ให้กับผู้สูงอายุในชุมชนอีกด้วย


การพัฒนาพื้นที่บ้านปางมะกล้วยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น ระบบนิเวศป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการฟื้นฟู สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร รวมถึงชุมชนมีความเข้มแข็ง เกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชุมชนในการพัฒนาป่าไม้ให้เกิดประโยชน์ในทุก ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่เรียนจบการศึกษาในเมืองตัดสินใจกลับถิ่นฐานมาทำงานในหมู่บ้าน โดยยึดผู้นำชุมชนเป็นต้นแบบของการเป็นผู้รักษาที่มีรายได้ มีการฝึกอบรมทักษะอาชีพเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ได้โอกาสไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ  เพราะมองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ยังเอื้ออำนวยความสะดวกและสามารถขยายช่องทางการตลาด โดยเฉพาะช่องทางตลาดออนไลน์ได้ รวมถึงการมีกิจการในชุมชนเป็นของตัวเอง เช่น ร้านกาแฟ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นเป้าหมายของคนรุ่นใหม่ที่อยากจะกลับบ้านเกิด ปัจจุบันชุมชนบ้านปางมะกล้วยมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ  130000/ ปี