เมื่อ : 04 พ.ค. 2568

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ปทุมธานี สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจ.ปทุมธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ.ปทุมธานี และมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ลงนามความร่วมมือใน “การขยายผลโครงการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อลดขยะอาหารและสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชน” โดยใช้กลไกชุมชนรักษ์อาหาร (Local Food Rescue) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จ.ปทุมธานี อาทิ ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ประสบภัย ควบคู่ไปกับการลดปริมาณขยะอาหารในพื้นที่

 

โดยมุ่งสู่การพัฒนา “ปทุมธานีต้นแบบการจัดการอาหารส่วนเกิน (Pathum Thani Food Bank Model)” เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงอาหารและการจัดการอาหารส่วนเกินอย่างยั่งยืน โครงการนี้ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่เหมาะสมในหลายด้าน ครอบคลุมทั้งความปลอดภัยอาหาร การเก็บรักษา การขนส่ง การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ การแจกจ่าย รวมถึงการคำนวณข้อมูลการปล่อยคาร์บอน 

ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญและจะเป็นต้นแบบการดำเนินงานในจังหวัดอื่น ๆ ตามเป้าหมายที่จะนำโมเดลนี้ขยายผลไปอีก 7 จังหวัดทั่วไทยภายในปี 2568 ทั้งนี้ ในพิธีลงนามมีคณะผู้บริหารและหน่วยงานที่ร่วมลงนามความร่วมมือ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายผู้ร่วมบริจาคอาหารส่วนเกิน ได้แก่ ตลาดสี่มุมเมือง เซียร์รังสิต ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ตลาดไท และซีพีแรม รวมถึงผู้แทนจากชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัด เข้าร่วมในงานอย่างคับคั่ง

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้พัฒนาเครื่องมือและแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อลดปัญหาขยะอาหาร ประกอบด้วยการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยอาหารสำหรับการบริจาคอาหารโดยไบโอเทค การพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงผู้บริจาคอาหาร ผู้รับอาหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเนคเทค ตลอดจนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของอาหารส่วนเกินต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเอ็มเทค นอกจากนี้ ยังมีทีมวิจัยนโยบายที่ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนกระบวนการบริจาคอาหารส่วนเกินและจัดตั้งเป็นธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) 

 

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ สวทช. จะนำผลงานวิจัยเข้าไปสนับสนุนการขยายผลการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินในระดับท้องถิ่นให้เกิดผลเป็นรูปธรรมผ่านกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ในการประสานงานและเชื่อมโยงหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จ.ปทุมธานี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจะเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น ๆ ในการจัดการอาหารส่วนเกิน ลดขยะอาหาร และส่งเสริมความร่วมมือในสังคมได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ความร่วมมือการขยายผลโครงการการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อลดขยะอาหารและสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชน เพื่อเกิดเป็น “ปทุมธานีฟูดแบงก์โมเดล” นับเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อจังหวัดปทุมธานี และจะเป็นต้นแบบที่มีคุณค่าและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับจังหวัดอื่น ๆ ได้ด้วย โดยทั้ง 3 หน่วยงานของจังหวัด ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจ.ปทุมธานี และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ.ปทุมธานี จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ปทุมธานีฟูดแบงก์โมเดล เกิดขึ้นจริง และสามารถสร้างความยั่งยืนด้านอาหารให้กับชุมชนของเราต่อไป

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า อบจ.ปทุมธานี จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สร้างเครือข่ายผู้บริจาคอาหารในพื้นที่ด้วยการเชื่อมโยงผู้ผลิตอาหาร ตลาดค้าส่ง ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ โรงแรม และภาคธุรกิจต่าง ๆ ให้เข้ามามีบทบาทในการบริจาคอาหารส่วนเกินแก่กลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่ายผู้รับอาหารร่วมกับอาสาสมัครและจิตอาสาในพื้นที่ และร่วมสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้การกระจายอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง รวมถึงการจัดหาและสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงอาหารได้มากขึ้น ลดภาระครัวเรือน และยกระดับคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกันก็ยังสามารถลดปริมาณขยะอาหารที่ต้องจัดการในพื้นที่ ลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และยังลดงบประมาณของท้องถิ่นในการจัดการขยะได้อีกด้วย

นายนรินทร์ศักดิ์ พรรคเจริญ นักส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นชำนาญการพิเศษ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจ.ปทุมธานี กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจ.ปทุมธานี จะให้การสนับสนุนและประสานงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่น โดยจะร่วมกันสำรวจและให้ข้อมูลที่แม่นยำของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชากรกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้รับอาหารส่วนเกินในชุมชน ร่วมกับอาสาสมัครและจิตอาสา ตลอดจนประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับและแจกจ่ายอาหารให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้และเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม

ด้าน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ.ปทุมธานี จะมุ่งเน้นการดูแล พัฒนา และส่งเสริมศักยภาพของประชากรในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลและระบุกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ พร้อมทั้งประสานงานกับตัวกลางที่มีศักยภาพในการส่งต่ออาหารส่วนเกินอย่างทั่วถึง เพื่อให้ความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงผู้ที่ต้องการได้จริง นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมในการสร้างและสนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคม และเครือข่ายองค์กรชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการ ตลอดจนประสานการเชื่อมโยงกับผู้รับอาหารส่วนเกินในพื้นที่ ร่วมกับอาสาสมัครและจิตอาสา รวมถึงการประชาสัมพันธ์และสื่อสารข้อมูลของโครงการให้ครอบคลุมและเข้าถึงเครือข่ายในพื้นที่อย่างทั่วถึง

นายทวี อิ่มพูลทรัพย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) กล่าวว่า โครงการรักษ์อาหาร เป็นโครงการที่ SOS ได้ริเริ่มขึ้นด้วยความตระหนักถึงปัญหาอาหารเหลือทิ้งและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ด้อยโอกาสและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เชื่อว่าการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน จะเป็นพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี วันนี้จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนโครงการรักษ์อาหาร จ.ปทุมธานี ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาระบบการจัดการอาหารส่วนเกิน สร้างความตระหนักรู้เรื่องการบริโภคอาหารอย่างยั่งยืน สนับสนุนการเข้าถึงอาหารของผู้ด้อยโอกาส และนับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่ยั่งยืน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคมไทยในวงกว้าง

โอกาสนี้ คณะผู้บริหารและหน่วยงานที่ร่วมลงนามความร่วมมือ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ได้ร่วมลงพื้นที่ ที่ชุมชนบ้านมั่นคง โครงการสหกรณ์เคหสถานปทุมธานีโมเดล จำกัด (ตรงข้าม ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) ซ.คลองหลวง 35 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อร่วมกันส่งต่ออาหารส่วนเกินให้แก่ชาวบ้านในชุมชนกว่า 200 คน ถือเป็นพื้นที่ปฐมบทแสดงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการ ฯ ในพื้นที่จ.ปทุมธานี เพื่อให้การส่งต่ออาหาร และขยายผลด้วยกลไกชุมชนรักษ์อาหารภายใต้ปทุมธานีฟูดแบงก์โมเดล ช่วยชุบชีวิตให้อาหารไม่กลายเป็นขยะอย่างสูญเปล่า และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ผู้มีรายได้น้อยในสังคมได้อย่างแท้จริง

ผู้สนใจทุกภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สวทช. โทร. 02 5647000 อีเมล Foodbank@nstda.or.th และมูลนิธิ SOS โทร. 02 0751417 062 6750004 และ Facebook: @sosfoundationthai

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ